หน้าที่ของฮอร์โมนไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีรูปร่างลักษณะคล้ายผีเสื้อ โดยจะสร้างฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 3 ชนิด คือ คือ Thyroxine หรือ T4 Triiodothyronine หรือ T3 และ Calcitonin ซึ่งทำหน้าที่พิเศษออกไป ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงฮอร์โมนไทรอยด์ จะหมายความถึง ฮอร์โมน T4 และ T3 เป็นหลัก
หน้าที่ของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ค่อนข้างกว้าง ลำดับแรกเลยก็คือเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญในขณะที่เราพัก เช่นถ้าเรานั่งอยู่เฉย ๆ หรือนอนอยู่เฉย ๆ ร่างกายจะมีการเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา โดยในแต่ละบุคคลอัตราการเผาผลาญจะไม่เท่ากันหรือที่เราเรียกว่า Basal Metabolic Rate
นอกจากการควบคุมระบบการเผาผลาญแล้ว ต่อมไทรอยด์ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์โปรตีนของร่างกาย รวมไปถึงควบคุมการเจริญเติบโตในเรื่องของความสูงในวัยเจริญเติบโตอีกด้วย จะสังเกตได้ว่าผู้ที่มีปัญหาฮอร์โมนไทรอยด์ไม่พอตอนเด็กส่วนใหญ่จะไม่สูง
และฮอร์โมนไทรอยด์ก็ยังมีหน้าที่ที่สำคัญก็คือช่วยควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไต ในการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญ เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการไทรอยด์สูงก็จะเป็นคนขี้ร้อน ขณะที่คนที่มีปัญหาไทรอยด์ต่ำก็จะหนาวง่าย และคนที่ไทรอยด์สูงก็จะถ่ายคล่อง ขณะที่ผู้ที่ไทรอยด์ต่ำก็จะท้องผูกเนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง เพราะเมื่อระดับฮอร์โมนไทรอยด์ลดต่ำลง มันก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้จึงทำให้เกิดปัญหาท้องผูกได้
โรคในกลุ่มของต่อมไทรอยด์มีโรคอะไรบ้าง
- โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ( Hyperthyroidism) เนื่องจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ หากดูจากผลการตรวจเลือดจะพบว่าค่าฮอร์โมน T3 หรือ T4 สูง แต่ระดับฮอร์โมน TSH จะอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยส่วนมากเราจะพบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักจะมีอาการ ขี้หงุดหงิด ขี้กระวนกระวายใจ และมีอารมณ์แกว่ง คืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ขี้ร้อน ใจสั่น น้ำหนักลด และบางครั้งก็จะเห็นมีอาการบวมโตที่คอด้วย
ซึ่งสาเหตุของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ นี้จะเกิดได้จาก 3 ปัจจัย คือ
- ไทรอยด์อักเสบ ที่เรียกว่า Grave's disease ที่พบว่าเป็นโรคที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของต่อมไทรอยด์ และส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ โรคนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จำนวน 3 ใน 4 ของผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ทั้งหมด
- ต่อมไทรอยด์มีการหลั่งฮอร์โมนมากเกินปกติ เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มากกว่าเดิม ร่างกายจึงมีการเผาผลาญที่ผิดปกติ และนำมาซึ่งปัญหาอาการป่วย
- การทานยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Amiodarone ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ที่สูงเกินได้
- โรคไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือภาวะที่ร่างกาย มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ จากผลการตรวจเลือดจะพบว่าค่าฮอร์โมน T3 หรือ T4 ต่ำแต่ระดับฮอร์โมน TSH จะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยไม่เพียงพอกับการใช้งาน โดยผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยง่าย ขี้หนาว น้ำหนักขึ้น ท้องผูก ซึมเศร้า เคลื่อนไหวช้าความคิดความอ่านช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวบ่อย ผิวแห้งเป็นเกล็ด เล็บเล็บเปราะบาง ขาดแรงจูงใจทางเพศ ความรู้สึกทางเพศลดลง รวมไปถึงมีปัญหารอบเดือนผิดปกติ
ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคไฮโปไทรอยด์ คือ
- การที่ร่างกายมีสารพิษหรือสารโลหะหนักตกค้างจากการใช้ชีวิต เช่น อาหารและเครื่องดื่ม
- Hashimoto Thyroiditis เกิดจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีภูมิต้านทานไวเกินเข้ามาทำลายเนื้อต่อมไทรอยด์ ทำให้เซลล์ต่อมไทรอยด์ไม่เพียงพอกับการใช้ ทำให้ผลิตฮอร์โมนได้ต่ำ ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคไฮโปไทรอยด์ แต่สาเหตุที่พบได้น้อยก็คือ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทำงานผิดพลาดทำให้ฮอร์โมนจากสมองที่มาควบคุมไทรอยด์ผลิตออกมาได้น้อย ซึ่งตรงนี้สามารถตรวจเลือดและบอกได้ว่าเกิดจากต่อมไทรอยด์เองหรือว่าเกิดจากต่อมใต้สมอง
- เป็นโรคต่อมไทรอยด์จากการรักษาในกรณีที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เคยทานแร่ไอโอดีน 131 หรือ Radioactive Iodine และในผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก ซึ่งส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเสริม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไฮโปไทรอยด์คือ เป็นผู้หญิง อายุมากขึ้น มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ มีโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ เช่น เบาหวานประเภทที่ 1 โรคลำไส้จากภูมิต้านทานไว้เกิน คนที่เคยมีประวัติได้รับการฉายแสง ได้รับการกลืนแร่ ฉายแสงหรือเคยผ่าตัดไทรอยด์มาก่อน และที่สำคัญสำหรับผู้หญิงที่เคยตั้งท้องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาต้องตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในในภาวะไทรอยด์ต่ำหลังคลอดมีโดยเฉพาะหากที่มีอาการเหนื่อยง่ายจะต้องตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์สม่ำเสมอ
สำหรับคนที่เป็นไฮโปไทรอยด์ถ้าไม่รักษาผลที่ตามมาก็คือ
- คอจะโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าสมองจะสั่งงานว่าไทรอยด์ไม่พอ ฮอร์โมน TSH จากต่อมใต้สมองจะหลั่งออกมาเพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้แบ่งจำนวนเพิ่มขึ้น
- ภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในวงกว้างในระบบการเผาผลาญ การสร้างพลังงานของร่างกาย การทำงานของต่อมหมวกไต การสร้างโปรตีนของร่างกาย มีผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ เช่น ระบบการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด สมองและระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การรักษาโรคของต่อมไทรอยด์สามารถทำได้โดยแบ่งตามชนิดของโรค
การรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ทำได้โดยใช้ยาซึ่งออกฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยยาในกลุ่มนี้มี 2 ชนิด คือ Propylthiouracil : PTU และ Methimazole : MMI โดยทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีข้อระวังในการใช้ยาคือ ผลข้างเคียงของยาที่จะไปกดการทำงานของไขกระดูก ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงต้องทำการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากได้รับผลข้างเคียงดังกล่าวแล้วทานยาไม่ได้ อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การกลืนแร่ หรือ การผ่าตัด และนี่คือการรักษาในส่วนของการปรับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
การรักษาโรคไฮโปไทรอยด์ การรักษาจะเป็นการรักษาด้วยการทานยา หรือฮอร์โมนซึ่งมียาที่ใช้ด้วยกันอยู่ 3 ชนิด
ชนิดแรกเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ชนิดสะสม เช่น T4 : Thyroxine ซึ่งในร่างกายจะเปลี่ยนเป็น T3 : Triiodothyronine โดยอาศัยซีลีเนียมเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยน ดังนั้นหากใช้ยาฮอร์โมน T4 แนะนำให้ใช้ซีลีเนียมเสริมเพื่อให้เปลี่ยนเป็น T3 ได้ง่าย แต่หากได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนชนิด T4 ไปแล้วพบว่าค่าฮอร์โมน T 3 ซึ่งจะส่งผลให้มีภาวะขาดฮอร์โมนและยังมีอาการใจสั่น อาจจะต้องเพิ่มการใช้ยาฮอร์โมนชนิด T 3 แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวแพทย์ก็จะใช้ T4 ( หากพบว่าร่างกายของผู้ป่วยทนต่อไทรอยด์ฮอร์โมน ชนิดT3 และ T4 ไม่ได้ จะมีการใช้ฮอร์โมนไทรอยด์สกัดจากสัตว์ในสัดส่วนที่เป็นธรรมชาติ โดยไม่สามารถระบุขนาดได้แม่นยำแต่จะเป็นการสกัดฮอร์โมนไทรอยด์ออกมา ซึ่งเมื่อนำมาใช้จะได้ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด ) ซึ่งการจะปรับยา ทั้งชนิดและขนาดของฮอร์โมนนั้นต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา หากพบว่ามีปัญหา อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติจากการใช้สูตรยาฮอร์โมนดังกล่าว ผู้ป่วยไม่ควรหยุดทานยาเองเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนยาและแก้ปัญหา
และสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการ แพทย์จะแนะนำการใช้ Compounding ซึ่งเป็นการปรุงยาเฉพาะบุคคล โดยอาศัยการตรวจวัดระดับฮอร์โมน T3, T4 แล้วปรับสูตรให้เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยปรับตามอาการและระดับของฮอร์โมนของผู้ป่วย และอาจจะนำเกณฑ์เรื่องของสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศในขณะนั้นมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาร่วมด้วย
แนวทางการแพทย์แบบบูรณาการเน้นการดูแลแก้ปัญหาโรคไทรอยด์ที่ต้นเหตุด้วยการปรับสมดุลภูมิต้านทาน
สำหรับการรักษาด้วยแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการนั้นจะเน้นไปที่การดูแลที่ต้นเหตุ ด้วยความคิดที่ว่าการดูแลที่ต้นเหตุนอกจากจะช่วยเสริมให้อาการของโรคดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสช่วยให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็จะเป็นการป้องกันการย้อนกลับมาเป็นใหม่ของไทรอยด์ที่หายไปแล้วได้ เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีหลายกรณีที่คนไข้ได้รับยาแล้วอาการดีขึ้น แต่พอหยุดยาแล้วอาการของโรคที่ดีขึ้นก็ย้อนกลับมาเป็นอีกครั้ง
ซึ่งพบว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าผู้ป่วยไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและตรงจุด จากปัญหาต่าง ๆ เช่น
ระบบภูมิต้านทานในร่างกายที่ไวเกินไม่ได้รับการแก้ไข ร่างกายยังคงเป็นแหล่งสะสมของสารพิษและโลหะหนัก ซึ่งจะเข้าขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนเข้าไปในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถที่จะผลิตฮอร์โมนได้
ดังนั้นหากพบว่าร่างกายมีสารพิษและโลหะหนักตกค้างอยู่ จำเป็นการทำการล้างพิษสารโลหะหนักนั้นออกไปด้วยการทำคีเลชั่น ซึ่งการจะทราบว่าร่างกายของเรามีสารพิษหรือโลหะหนักอยู่มากน้อยเพียงใด ก็อาจจะต้องอาศัยการตรวจหาสารพิษด้วย
ระบบภูมิต้านทานที่ผิดเพี้ยนไปจากการที่ร่างกายมีเชื้อสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีการทำงานที่ผิดปกติ ไม่สามารถกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติและมีการติดเชื้อได้ ซึ่งต่อมาเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านั้นก็จะไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานให้เกิดภูมิต้านทานที่ผิดปกติ และออกมาทำลายต่อมไทรอยด์ได้ในที่สุด
ซึ่งการรักษาวิธีนี้ก็คือการไปกระตุ้นภูมิต้านทานให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การเสริมด้วยด้วยวิตามินดี การใช้แสงเลเซอร์ เช่น UVL High Power Laser การใช้โอโซนบำบัด เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานให้ทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงการใช้วิตามินอาหารเสริมเพื่อปรับระบบการทำงานของระบบไทรอยด์ ให้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ และหากเซลล์ของต่อมไทรอยด์โดนทำลายไปแล้ว ก็อาจจะใช้วิธีการorgan specificity peptide ช่วยกระตุ้นให้เซลล์นั้นกลับมาทำงานได้ดีดังเดิม
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการรักษาในเชิงต้นเหตุด้วยแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องโรคไทรอยด์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะด้วยการใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะหากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้สูงขึ้นนั่นเอง
..........
เข้าสู่ระบบ
Create New Account