โรคหลอดเลือดสมอง

โทรศัพท์ : 026515988
โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง เรียนรู้เพื่อทางรอด เพราะทุกนาทีคือชีวิต

โรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เป็นโรคที่พบได้บ่อย  โดยในแต่ละปีทั่วโลกมักจะพบว่ามีคนเป็น Stroke  ถึงปีละ 10 - 15 ล้านคน และในจำนวนนี้พบว่ามี 5 ล้านคนที่เสียชีวิต ขณะที่อีก 5 ล้านคนนั้นก็จะพิการถาวร  แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถปกป้องตนเองและคนที่รักจากภัยร้ายนี้ได้ ด้วยการทำความรู้จักและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองนี้ให้มาก ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสในการสูญเสียนั่นเอง

โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่แบบ

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke  คือ ภาวะที่เซลล์สมองของเราถูกทำลาย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ  

1.ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ   เกิดจากการที่ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณนั้นเอง หรือลิ่มเลือดนั้นล่องลอยมาจากที่อื่น  เช่น กรณีของคนที่เป็นโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ เกิดลิ่มเลือดแล้วลิ่มเลือดที่หัวใจล่องลอยไปกับกระแสเลือดมาอุดตันที่สมอง  ก็เกิดหลอดเลือดตีบได้   โดยกรณีหลอดเลือดตีบนี้จะเป็นกรณีที่พบได้บ่อยกว่าหลอดเลือดแตก ซึ่งพบได้มากถึง 70 - 80 % จากจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด

2. ภาวะหลอดเลือดสมองแตก เกิดได้จากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง และการที่มีเส้นเลือดโป่งพองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเกิดแตกขึ้นมา ซึ่งจะพบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองจากกรณีนี้มากถึง 30 %  ของผู้ป่วยทั้งหมด


นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนบางกลุ่มที่มีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือที่เรียกว่า Mini  Stroke  คือมีอาการของโรคเพียงชั่วคราวไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ 1 ใน 3 ของคนที่มีภาวะนี้สามารถพัฒนาไปเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท หากมีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในร่างกาย

สัญญาณเตือนที่ต้องรู้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง 

หากผู้ที่มีอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้น ได้รับการดูแลรักษาภายในระยะเวลาที่กำหนดจากแพทย์ก็เป็นไปได้ว่าสมองในส่วนที่ขาดเลือดจะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ และจะไม่เกิดความสูญเสียตามมา ฉะนั้นเราจึงต้องยึดหลัก F.A.S.T และ ( บอก )  ในการสังเกตสัญญาณและสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

Face  ( บ )  เบี้ยว หน้าเบี้ยวหรืออ่อนแรง

Arm  ( อ )  อ่อนแรง แขนขา ชา ไม่มีแรง

Speech  ( ก ) กล่าว พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด

Time เวลา ระยะเวลาที่มีอาการ ต้องรับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมง



อันตรายที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดสมอง  

เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ผลที่ตามมาก็คือ เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมสูญเสียการทำหน้าที่ ขั้นรุนแรงก็เสียชีวิต รองลงมาคือพิการถาวร หรือ พิการที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน  พูดไม่ชัด ควบคุมตนเองไม่ได้   มีความผิดปกติทางอารมณ์ หัวเราะ ร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล เข้าสังคมลำบาก เกิดอาการปวดโดยไม่ทราบสาเหตุเนื่องจาก ศูนย์ควบคุมการทำงานในสมองทำงานผิดปกติ รวมไปถึงมีอาการหลงลืม คล้ายกับอัลไซเมอร์ เนื่องจากสาเหตุของหลอดเลือดที่อุดตัน  และด้วยความร้ายแรงดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมโรคหลอดเลือดสมองถึงได้เป็นโรคที่ต้องระวังและใส่ใจ



กลุ่มเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรู้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้ที่มีอายุมาก 65 ขึ้นไปเสี่ยงมากกว่าอายุน้อย  ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง แต่เสียชีวิตยากกว่า หากผู้หญิงเป็นโรคนี้จะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า  #ชนเผ่า เชื้อชาติ หากเทียบกันระหว่างชาวอเมริกา ผิวขาว กับแอฟริกันอเมริกันจะมีความเสี่ยงมากกว่า  และ#ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน เช่น พ่อแม่เคยเป็น กระทั่ง #ผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อนก็อาจเป็นได้

  1. กลุ่มที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น  #ผู้ที่ป่วยด้วยโรคชุด เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง คอเลสเตอรอลสูง คือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย ทั้งนี้รวมไปถึงผู้ที่มี #ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ  Sleep Apnea ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องดูแลตนเองให้ดีจากโรคประจำตัว ดูแลเรื่องการทานอาหาร ออกกำลังกาย รวมไปถึง ควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันคอเลสเตอรอล

ตรวจคัดกรองแบบเจาะลึก ทางเลือกป้องกันความเสี่ยง...ที่เพียงคุณใส่ใจ



หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง และอยากป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ สิ่งที่แนะนำ นอกจากการทานอาหาร ออกกำลังกายแล้ว สิ่งที่ต้องดูแลก็คือ ลดปัจจัยความเสี่ยงด้วยการตรวจเช็กสุขภาพ  ซึ่งในแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการนั้น เน้นการตรวจพิเศษที่ลงลึกเฉพาะบุคคล ไม่ใช่เพียงการตรวจค่าน้ำตาลและระดับไขมัน เท่านั้นยังมีการตรวจที่แนะนำเพิ่มเติม  คือ

1. hs – CRP  ( High Sensitivity C-reactive Protein Test ) การตรวจระดับสารอักเสบและความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือด เพราะเวลาที่หลอดเลือดในร่างกายอักเสบ ร่างกายจะมีการสร้างสารบางอย่างออกมา โดยเฉพาะที่ตับจะสร้างโปรตีนที่เรียกว่า C Reactive Protein เพราะฉะนั้นการตรวจนี้จะช่วยบ่งชี้ถึงโอกาสเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอักเสบที่นำไปสู่การเกิดโรคได้ง่าย

2. Homocysteine การตรวจหาสารโฮโมซีสเตอีน เพื่อเช็กความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอักเสบ เพราะ Homocysteine คือกรดอะมิโนที่ตกค้างเป็นของเสียในร่างกายเรา ถ้าตกค้างมาก ๆ  จะเข้าไปบาดหลอดเลือด และจะทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดตามมาได้

3.  Fibrinogen เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งถูกสังเคราะห์ในร่างกาย มีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว การตรวจนี้จะช่วยให้เราเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ในกรณีที่ร่างกายของเรามีโปรตีนนี้สูง

4. D – dimer ตรวจการอุดตันของหลอดเลือดดำ  เมื่อใดที่ตรวจพบค่านี้ในร่างกายสูง แปลว่า มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นแล้ว และมันสามารถไปอุดตันที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงสมองได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้โรคหลอดเลือดสมองนี้จะอันตรายก็จริง แต่หากเรารู้สัญญาณเตือนของโรคก็จะช่วยทำให้รู้ว่าเรามีความเสี่ยงหรือไม่ และหากความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้ เราควรรีบแก้ไขและหลีกเลี่ยงให้ทันท่วงที ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น


   

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง
SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us