โรคหลอดเลือดหัวใจ คือหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุดพอ ๆ กับโรคมะเร็ง ยิ่งในปัจจุบันไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอาหารการกินที่เป็นตัวเร่งให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือด และนำไปสู่ปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจในที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและป้องกันความเสี่ยงจากโรคนี้ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองจากโรคนี้ให้มาก ทั้งใส่ใจสุขภาพและตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันมีสาเหตุมาจากอะไร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าพฤติกรรมการทานอาหารของคนในยุคปัจจุบันนี้ เป็นสาเหตุหลักและเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าอาหารจานด่วนที่คนชอบทานนั้นจะเต็มไปด้วยอาหารไขมันสูง ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มที่เมื่อทานเข้าไปแล้วจะเข้าไปเพิ่มระดับไขมันชนิดไม่ดีหรือไขมันเลว LDL cholesterol ในร่างกาย และขณะเดียวกันมันก็จะไปลดละดับคอเลสเตอรอลชนิดดี HDL cholesterol ในเลือดของเราลง
โดยไขมันเลวนั้นหากมีการสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก มันก็จะนำมาซึ่งไขมันที่แทรกซึมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของผนังหลอดเลือดในร่างกาย ซึ่งเมื่อมีการสะสมเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้หลอดเลือดนั้นตีบตันทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลงและเกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ขณะเดียวกันถ้าเกิดเหตุการณ์หลอดเลือดแดงแตกหรืออุดตันก็อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวายเฉียบพลันซึ่งโอกาสในการเสียชีวิตนั้นเป็นไปได้สูงมาก เพราะปัญหาเหล่านี้มักจะมาโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการนำมาก่อน และไม่ทันได้ตั้งตัว ( ซึ่งหากจะเปรียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนก็คล้ายกับท่อน้ำที่มีสนิมหรือคราบตะกรันเกาะอยู่ทำให้น้ำไหลได้ผ่านได้น้อยลง หรือบางครั้งก็ทำให้ท่อตันนั่นเอง )
ตรวจ LDL Cholesterol เป็นการตรวจพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ตรวจกัน
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดหลาย ๆ คนจึงได้เลือกใช้วิธีการตรวจคัดกรองความเสี่ยง โดยการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับการตรวจวัดปริมาณไขมัน LDL Cholesterol โดยเป็นวิธีการตรวจประเมินความเสี่ยงแบบพื้นฐานที่ช่วยประเมินได้ว่าบุคคลนั้นมีปัจจัยเสี่ยงมากหรือน้อยต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และเป็นการตรวจที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี มาใช้ในการวัดค่าความเสี่ยงเพื่อนำไปสู่การป้องกันและการแก้ปัญหา แต่นั่นก็อาจจะเป็นการประเมินที่ช่วยคัดกรองความเสี่ยงได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะตัวการของความเสี่ยงและการบาดเจ็บที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอีกส่วนหนึ่งก็คือ อนุมูลอิสระหรือ Free Radicals ซึ่งเมื่อ LDL Cholesterol ไปทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระ มันก็จะเกิดคอเลสเตอรอลสนิมที่เราเรียกว่า Oxidized Cholesterol หรือ Oxidized LDL ซึ่งเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจที่ต้องระวังให้มากกว่า LDL Cholesterol ผู้ร้ายตัวปลอมที่เราเคยให้ความสำคัญกับมันมาโดยตลอด
การตรวจ Oxidized LDL จะช่วยหาผู้ร้ายที่แท้จริง ต้นเหตุความเสื่อมที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
อย่างที่บอกไปว่าเมื่อมีอนุมูลอิสระหรือ Free Radicals ที่เกิดจากความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สาร PM2.5 สารพิษสารเคมีรอบตัว การใช้ร่างกายที่หนักเกินไป สะสมอยู่ในร่างกายจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดปฏิกิริยา Oxidized LDL ได้
และความน่ากลัวของปฏิกิริยา Oxidized LDL นั้นน่ากลัวกว่าที่คิดมาก เพราะแม้กระทั่งคนปกติทั่วไป หรือคนที่เรามองว่าเขาใส่ใจตนเองและรักการออกกำลังกายก็พบความเสี่ยงจากกรณีนี้ได้จากการที่ใช้ร่างกายหนักจนเกินไป ยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของคนมีชื่อเสียงหลายคนที่เคยมีข่าวว่าหัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งที่ปกติเป็นคนรักสุขภาพและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ก็เนื่องจากการที่ใช้ร่างกายเปลือง ออกกำลังอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งมันเป็นการสร้างความเครียดและภาระให้กับร่างกายที่เรียกว่าอนุมูลอิสระ เมื่ออนุมูลอิสระนี่เข้าไปเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของสารที่วิ่งอยู่ในเลือดเช่นไขมันก็จะทำให้เกิดบาดแผลในหลอดเลือดขึ้นมาได้
เพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจวัดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย Oxidized LDL
การตรวจวัดระดับ Oxidized LDL ในแต่ละบุคคลนั้นสามารถทำได้โดยการเจาะเลือด เหมือนการตรวจวัดระดับไขมันโดยทั่วไป และผลที่ได้ก็จะบอกว่าระดับไขมันในเลือดที่จะก่อโรคในร่างกายนั้นมีมากน้อยเพียงใด และมีความเสี่ยงต่อการที่หลอดเลือดของคุณจะตีบหรือเปล่า
โดยหากนำการตรวจนี้มาใช้ร่วมกันกับการตรวจ LDL Cholesterol ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหาความเสี่ยงของโรคได้มาก เพราะตามหลักการตามพยาธิสภาพของโรคแล้ว การวัดที่ Oxidized LDL นั้นคือการมองหาผู้ร้ายตัวจริงที่ก่อปัญหาได้เลย
รู้ปัญหามีทางออก เมื่อทราบผลการตรวจ Oxidized LDL
หลังการตรวจเมื่อทราบถึงระดับความเสี่ยงของการเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจากปริมาณไขมัน LDL ที่สูง ระดับของการ Oxidized LDL แล้ว เราก็ทราบถึงต้นเหตุและไปแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ถ้าตัวการของความเสี่ยงมันคืออนุมูลอิสระก็ต้องทำการลดอนุมูลอิสระ เช่น พักผ่อนให้มาก เข้านอนเร็ว ตื่นเช้า ไม่เครียด ออกกำลังกายตามความเหมาะสม ไม่หนักจนเกินไป ดูแลเรื่องของอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และปรับวิธีการปรุงอาหาร จากเดิมที่ทานอาหารทอด ผัด ก็อาจจะเปลี่ยนวิธีปรุงด้วยการลวกหรือการต้มแทน เพราะการทานอาหารที่ถูกปรุงด้วยน้ำมันที่มีความร้อนสูงนั้นจะสร้างไขมันทรานส์ และเปลี่ยนโมเลกุลของไขมันให้เป็นพิษพร้อมทั้งเกิด Oxidized LDL ขึ้นได้ ทั้งนี้รวมถึงการใช้อาหารให้เป็นยามากขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการทานผัก ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้พวกตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ บลูเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ ลูกหม่อน ฝรั่ง ผักใบเขียว พริกหยวก แครอท ซึ่งกลุ่มนี้จะอุดมไปด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ ที่เป็นพวกกลุ่มของวิตามิน เอ วิตามินบี วิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นตัวต่อต้านการเกิด Oxidized LDL อยู่ในเกณฑ์ที่สูง นั่นเอง
การตรวจ Oxidized LDL ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตามการตรวจ Oxidized LDL นั้นสามารถตรวจได้ซ้ำได้โดยไม่ข้องดเว้น โดยสามารถตรวจซ้ำได้ทุก 3 เดือน 6 เดือน โดยขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นว่าตรวจแล้วอยู่ในระดับใด หากตรวจแล้วมี ค่า Oxidized LDL สูงผิดปกติ ก็อาจจะต้องพิจารณาการรักษาว่าจะใช้ยา หรือไม่ใช้ยาร่วมกับการใช้โภชนาการบำบัด และการปรับพฤติกรรม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ก็ค่อยมาดูใหม่ว่าค่านั้นลดลงและอยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจไหม หากยังไม่พอใจอาจจะต้องมีการสืบค้นเพิ่มเติมว่า ยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มอนุมูลอิสระให้ร่างกายอยู่หรือไม่ ซึ่งบางคนอาจจะปรับแค่การทานอาหาร ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่และออกกำลังกายบ้างแล้ว แต่ยังพักผ่อนไม่เพียงพอ และมีความเครียดอยู่ ก็อาจจะยังมีอนุมูลอิสระอยู่ได้ และหากการปรับพฤติกรรมไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายของเราอาจจะยังได้รับสารพิษ สารเคมีอยู่ อาจจะต้องพิจารณาวางแผนการเคลียร์สารพิษออกจากร่างกายด้วยการล้างสารพิษ การทำคีเลชั่นบำบัด และการใช้สารอาหารบำบัดหรือสารต้านอนุมูลอิสระตามหลักโภชนาการเข้าไปสนับสนุนให้เซลล์ในร่างกายของเราจัดการสารพิษและอนุมูลอิสระที่จะเกิดขึ้นได้ดีขึ้น
โดยทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เราจะใช้ประโยชน์จากการตรวจวัดระดับ Oxidized LDL มาดูแลตนเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าหากคุณไม่อยากจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ ป่วยภาวะทุพพลภาพ แนะนำว่าให้ป้องกันไว้ดีกว่ารักษา เพราะการป้องกันช่วยลดความเสี่ยงได้ และยิ่งถ้าได้รับการตรวจหาความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเชื่อว่าโอกาสของการสูญเสียที่ไม่คาดคิดจากปัญหาการตีบ แตก ตันของหลอดเลือด ทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองก็ย่อมเป็นไปได้
เข้าสู่ระบบ
Create New Account