ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ รักษาอย่างไร

โทรศัพท์ : 026515988
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ รักษาอย่างไร
โดย นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต อาจารย์แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)  ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ รักษาอย่างไร

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) หรือบางคนเรียกว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน คือภาวะที่เกิดจากร่างกายพร่องหรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง หรือไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้ ซึ่งเมื่อเกิดจากตัวโรคของตัวต่อมไทรอยด์เองเรียกว่า ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนปฐมภูมิ (Primary hypothyroidism) และเมื่อเกิดจากโรคของต่อมใต้สมอง หรือโรคของสมองไฮโปธาลามัสแล้วส่งผลกระทบมายังการทำงานของต่อมไทรอยด์ เรียกว่า ภาวะ/ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ (Secondary hypothyroidism)

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อตั้งอยู่ด้านหน้าของลำคอ ในส่วนหน้าต่อลูกกระเดือกหรือกระดูกอ่อนไทรอยด์ (Thyroid cartilage) มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ประกอบด้วย 2 กลีบใหญ่ คือ กลีบด้านซ้าย และกลีบด้านขวา ซึ่งทั้งสองกลีบเชื่อมต่อถึงกันด้วยเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่เรียกว่า อิสธ์มัส (Isthmus) ซึ่งต่อมไทรอยด์ปกติไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถคลำพบได้

ต่อมไทรอยด์ สร้างฮอร์โมนสำคัญ 3 ชนิด คือ ไทรอกซีน หรือ ที4 (Thyroxine, T4) ไตรไอโอโดไธโรนีน หรือ ที3 (Triiodothyronine, T3) และ แคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญน้อยกว่า ฮอร์โมน ที4 และ ที3 เป็นอย่างมาก ดังนั้นโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงไทรอยด์ฮอร์โมน จึงมักหมายความถึงเฉพาะฮอร์โมน ที4 และ ที3 เท่านั้น ฮอร์โมน ที4 และฮอร์โมน ที3 มีหน้าที่สำคัญมาก คือ ควบคุมดูแลการใช้พลังงานทั้งจากอาหาร และจากออกซิเจน หรือที่เรียกว่า เมตาโบลิซึม (Metabolism) ของส่วนต่าง ๆ เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อการทำงาน และเพื่อการซ่อมแซมจุดที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วย ส่วนฮอร์โมนแคลซิโทนิน มีหน้าที่ช่วยควบคุมการทำงานของเกลือแร่แคลเซียมในร่างกายให้อยู่ในสมดุล

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus เป็นสมองส่วนหนึ่งของสมองใหญ่/Cerebrumโดยอยู่ในส่วนลึกกลางสมองใหญ่) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมอง และสมองไฮโปธาลามัส ยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆด้วย เช่น ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ และจิตใจ ดังนั้น การทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งโรค หรือ ภาวะผิดปกติต่างๆของต่อมไทรอยด์ จึงสัมพันธ์กับการทำงาน และโรคต่างๆของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นภาวะพบได้บ่อยภาวะหนึ่ง พบได้ประมาณ 2-5% ของประชากรทั่วไป โดยพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิด (พบได้ประมาณ 1 คนในเด็กเกิดใหม่ทุก 3,000-4,000 คน) ไปจนถึงผู้สูงอายุ (ประมาณ 15% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป) พบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าในผู้ชายถึงประมาณ 2-8 เท่า

สาเหตุการเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

สาเหตุของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนปฐมภูมิ มีได้หลากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ

  • โรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์

  • โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ ฮาชิโมโต (Hashimoto’s thyroiditis)

  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

  • การกินแร่ น้ำแร่รังสีไอโอดีนในการรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

  • การฉายรังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งในบริเวณลำคอซึ่งจะโดนต่อมไทรอยด์ไปด้วย

  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลกดการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เช่น ยา/สีที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ยาบางชนิดในการรักษาโรคทางด้านจิตเวช โรคลมชัก โรคเบาหวาน และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (เช่น โปแตสเซียมเปอร์คลอเรท/Potassium perchlorate ที่เป็นยาลดการจับกินธาตุไอโอดีนของต่อมไทรอยด์)

  • ไม่มีต่อมไทรอยด์แต่กำเนิดหรือต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยแต่กำเนิด (Congenital hypothyroid)

  • โรคบางชนิดที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma)

สาเหตุของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนทุติยภูมิ ซึ่งมีได้หลากหลายสาเหตุเช่นกัน ที่พบบ่อย คือ

  • โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

  • การผ่าตัดต่อมใต้สมอง เช่น ในการรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

  • การฉายรังสีรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง

  • มีเลือดออกในต่อมใต้สมองจากต่อมใต้สมองได้รับอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุในส่วนของศีรษะ)

  • โรค หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ของสมองที่ส่งผลถึงการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัส เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง

อาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

อาการจากภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ค่อย ๆ เกิดอาการ ไม่ใช่อาการที่เกิดเฉียบพลัน นอกจากนั้นยังมีได้หลาย ๆ อาการร่วมกัน ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับว่าขาดฮอร์โมนในปริมาณเล็กน้อย หรือในปริมาณมาก ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • อ้วน ฉุ บวม ที่ใบหน้า รอบดวงตา ลำตัว แขน มือ ขาและเท้า

  • หัวใจเต้นช้า เหนื่อยง่าย

  • ช้า เซื่องซึม

  • ง่วงนอนตลอดเวลา

  • เมื่อเกิดในเด็ก เด็กจะเจริญเติบโตช้า เตี้ยกว่าเกณฑ์มาก

  • ท้องผูก

  • เหงื่อออกน้อย

  • ทนหนาวไม่ได้ ตัวเย็นกว่าคนทั่วไป

  • ผมร่วง ผิวหนังหยาบ แห้ง คัน

  • เล็บด้าน เปราะ ฉีก แตก ง่าย

  • ขนคิ้วบางโดยเฉพาะในส่วนปลาย ๆ ของคิ้ว

  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย กล้ามเนื้อลีบ

  • ปวดข้อต่าง ๆ

  • พูดเสียงแหบ

  • มีภาวะซีด

  • ไม่มีสมาธิ เมื่อเกิดในเด็ก สติปัญญาจะต่ำกว่าเกณฑ์

  • มีไขมันในเลือดสูง (โรคไขมันในเลือดสูง)

  • ในผู้หญิง ประจำเดือนจะผิดปกติ เช่น มาแต่ละครั้งในปริมาณมากและนาน ในผู้ชายอาจมีนมตั้งเต้า (Gynecomastia)

  • ความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นหมัน ซึมเศร้า

  • บางคนอาจมีลิ้นใหญ่ และ/หรือหูได้ยินเสียงลดลง

  • อาจมีต่อมไทรอยด์โต หรือโรคคอพอก (โรคของต่อมไทรอยด์)

การวินิจฉัยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคในอดีต ประวัติกินยาต่าง ๆ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอยด์ การตรวจเลือดดูค่าไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ และค่าไขมันในเลือด และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอดเพื่อดูภาพหัวใจ เป็นต้น

การตรวจสอบภาวการณ์ทำงานของต่อมไทรอยด์ทำได้โดยการวัดฮอร์โมน T4 และ T3 ในเลือด ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เกาะติดกับโปรตีนที่เรียกว่า ไทโรกลอบบิวลิน (TBG) เหลือเพียงบางส่วนที่ไม่ได้เกาะติดกับ TGB หรือเรียกว่า ฟรีฮอร์โมน ดังนั้นการวัดการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ดีขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คือ การวัดระดับฟรีฮอร์โมน (Free T4 หรือ T3) นอกจากนี้แล้วฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหรือ TSH จะขึ้นสูงก่อนที่ระดับ T4 หรือ T3 จะต่ำลง นั่นคือระดับฮอร์โมน TSH ในเลือดจะสูงขึ้นก่อนที่อาการต่างๆของไฮโปไทรอยด์จะแสดงออกมา ดังนั้นการวัดระดับ TSH ในเลือดจึงสามารถช่วยวินิจฉัยโรคไฮโปไทรอยด์ได้เร็วกว่าการวัดระดับ T4 และ T3

การรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

การรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การให้กินยาไทรอยด์ฮอร์โมนชดเชย ซึ่งหลายสาเหตุอาจต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิต โดยจะต้องเริ่มให้ในขนาดน้อยแล้วค่อยปรับยาจนกระทั่งระดับ T4 และ TSH อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรตรวจหาระดับ TSH เป็นระยะเพื่อปรับยาไทรอยด์อย่างน้อยปีละครั้ง นอกจากนี้แล้วเราสามารถเสริมด้วยการรักษาแนวบูรณาการด้วยการซ่อมแซมเฉพาะจุด เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ ร่วมกับการใช้สารอาหารที่มีสารออกฤทธิ์ที่สามารถปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุล

ความรุนแรงและผลข้างเคียงของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

โดยทั่วไปภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นภาวะไม่รุนแรง รักษาได้ แต่อาจต้องกินยาไทรอยด์ฮอร์โมนตลอดชีวิตดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งผลข้างเคียงของภาวะนี้ที่สำคัญ คือ โรคหัวใจ อาการง่วงซึม เชื่องช้า และบวม ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตและในด้านการงาน ส่วนในเด็กที่เพิ่มเติมจากในผู้ใหญ่ คือ ภาวะสติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์ และตัวเตี้ยมาก การดูแลตนเอง การพบแพทย์ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรดูแลตนเอง หลังจากพบแพทย์แล้ว ควรดูแลตนเอง ดังนี้ ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำเสมอ กินยาให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา โดยเฉพาะไม่ขาดยาไทรอยด์ฮอร์โมน พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีความกังวลในอาการ

การป้องกันภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

เมื่อดูจากสาเหตุแล้วการป้องกันภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นเรื่องยาก เพราะมักเกิดจากการรักษาโรคต่าง ๆ และสาเหตุแต่กำเนิด ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการตนเองเสมอ เมื่อพบมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่น ๆ อีกประการดังกล่าวแล้วว่าสาเหตุของภาวะนี้อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้ ดังนั้นในการใช้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อซื้อยาใช้เองจึงควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ รวมทั้งอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ และควรรู้ว่ายาชนิดนั้น ๆ อาจมีผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us