ภัยร้ายซ่อนเร้นกับภาวะไขมันแทรกตับ

โทรศัพท์ : 026515988
ภัยร้ายซ่อนเร้นกับภาวะไขมันแทรกตับ
บทความโดย นพ.ศิต เธียรฐิติ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
ภัยร้ายซ่อนเร้นกับภาวะไขมันแทรกตับ

     เมื่อกล่าวถึงภาวะไขมันแทรกตับหรือไขมันเกาะตับ หลายๆคนอาจไม่เคยพบ และไม่เคยได้ยินและอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวเพราะว่าภาวะนี้เป็นภาวะการเสียสมดุลทางสุขภาพของร่างกายที่ไม่มีอาการใดๆเลยในระยะเริ่มต้นถึงระยะกลางในการดำเนินของโรค
     แต่ในปัจจุบันนี้กลับพบว่าภาวะไขมันแทรกตับนี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คนไข้กลุ่มนี้กลายเป็นโรคตับแข็งหรือตับอักเสบเรื้อรังได้แม้ว่าคนไข้กลุ่มนี้จะเป็นคนที่ไม่เคยดื่มเหล้า ไม่เคยสูบบุหรี่ หรือไม่เคยมีประวัติรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใด ๆ เลยก็ตาม

         

ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีน้ำหนักประมาณ 1,200-1,500 กรัม มีลักษณะภายนอกคล้ายปีรามิด อยู่ในช่องท้องช่วงใต้ชายโครงขวา และเป็นอวัยวะที่สำคัญกับชีวิตของเราอย่างมาก เพราะตับมีการทำงานที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการทำงานของร่างกายเราหลาย ๆ อย่างอาทิเช่น

1. ผลิตน้ำดี เพื่อใช้ในการย่อยและแตกตัวอาหารจำพวกไขมัน

2. สังเคราะห์สารสำคัญหลายชนิดที่จำเป็นในการทำงานของร่างกาย เช่น กรดอะมิโน วิตามิน ฮอร์โมน

3. รักษาสมดุลด้านพลังงานและการเผาผลาญ และเป็นแหล่งเก็บสะสมคาร์โบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่

4. ทำหน้าที่ฟอกสารที่เป็นพิษที่ส่งมาทางเลือด เช่น ของเสียจากการเผาผลาญของร่างกาย แอมโมเนีย เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุแล้ว ตัวยาและสารพิษต่าง ๆ ที่ร่างกายรับเข้ามา
         โดยปกติแล้วการทำงานของตับ หลายล้าน ๆ เซลล์จะทำงานประสานงานกันอย่างดี และมีกลไกในการซ่อมแซมตัวเองที่ดีเยี่ยม และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าการบาดเจ็บ หรือความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับตับในช่วงแรก ๆ จะไม่มีอาการใด ๆ หรือค่าเคมีในเลือดใด ๆ ที่เปลี่ยนแปลงมากนัก จนอาจทำให้เราละเลยที่จะดูแลตับของเราให้ดี


        หากแต่ว่ามีสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เซลล์ตับยังคงบาดเจ็บต่อเนื่อง เช่น ติดเชื้อไวรัส การดื่มสุรา การใช้ยาเกินความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งภาวะไขมันแทรกตับ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อการอักเสบและบาดเจ็บของเซลล์และเนื้อเยื่อตับได้ทั้งสิ้น
        จนเมื่อรอยโรคหรือพยาธิสภาพต่าง ๆ เริ่มมากขึ้นจนการทำงานของเซลล์ตับทำหน้าที่ชดเชยกันไม่ไหวแล้ว ก็อาจตรวจพบค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นได้จากการอักเสบของเนื้อเยื่อตับ หรืออาจจะมีอาการแสดงออกมาภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจุกเสียดใต้ชายโครงขวา ท้องอืดบ่อย ๆ อาหารไม่ย่อย มีอาการอ่อนเพลียง่ายขึ้นจากการที่มีสารพิษคั่งในร่างกาย และการปรับสมดุลพลังงานและการเผาผลาญของร่างกายเสียไป ของเสีย เช่น สารบิลิรูบิน จากเม็ดเลือดที่หมดอายุก็เกิดการคั่งในร่างกายทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการคันตามผิวนังได้

         บางรายที่การทำงานของตับเสื่อมมากแล้ว อาจพบอาการบวมน้ำ เลือดออกง่ายผิดปกติ การทำงานของสมองผิดปกติ สับสนง่าย อาจตรวจพบหลอดเลือดฝอยบริเวณผิวหนังหน้าท้องหรือหน้าอกโป่งตัวคล้ายใยแมงมุม ภูมิต้านทานตกติดเชื้อง่าย และเสียชีวิตได้

สาเหตุของภาวะไขมันแทรกตับ
   1. ภาวะอ้วนลงพุง หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการเมทาบอลิก คนไข้กลุ่มนี้ตามสถิติถือเป็นคนไข้กลุ่มเสี่ยง และสามารถตรวจพบภาวะไขมันแทรกตับได้มากถึง 50-90% เกณท์ที่ใช้ในการวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุงในคนไทย ผู้ชายถ้ามีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร หรือ มากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง ร่วมกับผลตรวจร่างกายซึ่งมักจะพบว่า

  • มีความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 130/85 มม.ปรอท,
  • น้ำตาลในเลือดสูง ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • โคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้ชาย หรือต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง

     อย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นนี้ เราก็สามารถจัดคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มอาการเมทาบอลิกหรือภาวะอ้วนลงพุงแล้ว

     ไขมันภายในช่องท้องซึ่งอาจสะสมในเยื่อบุช่องท้อง หรือในเซลล์ตับสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและเป็นต้นเหตุที่สำคัญของภาวะดื้ออินสุลินในคนไข้เบาหวานอีกด้วย

   2. สารพิษต่าง ๆ ที่มีผลกับเซลล์ตับ เช่น แอลกอฮอล์, ยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้, ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID เช่น diclofenac ibuprofen naproxen ยาแก้ปวดลดไข้ paracetamol ยากดภูมิต้านทาน methotrexate ซึ่งสารพิษและยาเหล่านี้โดยปกติแล้วร่างกายจะใช้ตับเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษ แต่ถ้าร่างกายรับยาและสารพิษเหล่านี้มากเกินก็ทำให้เกิดการบาดเจ็ดของเซลล์ตับ และเกิดการแทรกตัวของชั้นไขมันเข้าไปในเนื้อเยื่อตับได้

   3. ภาวะลำไส้แปรปรวน มีงานวิจัยใหม่ ๆ ค้นพบความสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่มีอาการของลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องผูกประจำ หรือท้องเสียง่าย มักมีอุบัติการของภาวะไขมันแทรกตับมากขึ้น ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากการเสียสมดุลของแบคทีเรียดีในทางเดินอาหาร ทำให้มีการเจริญของเชื้อโรคแปลกปลอมที่ผิดปกติ เช่น ยีสต์ ราหรือแบคทีเรียตัวร้าย ที่สามารถสร้างสารพิษกลุ่ม endotoxins และแพร่เข้าไปในหลอดเลือดผ่านเยื่อบุลำไส้ที่อ่อนแอลง และไปมีผลต่อการบาดเจ็บหรืออักเสบของเซลล์ตับอีกทอดหนึ่ง


         ในปัจจุบัน นักวิจัยทางการแพทย์สาขาทางเดินอาหารเชื่อว่าภาวะไขมันแทรกตับ จะมีการพัฒนาของรอยโรคหรือพยาธิสภาพไปเป็นตับอักเสบ ตับแข็งหรือมะเร็งตับได้หรือไม่นั้น คงมาจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมหรือที่เรียกว่า Multihit theory การรักษาที่สุดคงต้องเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดหรือในระยะแรกของโรค เพราะยังเป็นช่วงที่ตับสมารถซ่อมแซมตัวเอง และอาจหายขาดจากภาวะไขมันแทรกตับได้ (Reversible stage) แต่ถ้าเรารอจนมีอาการหรือรอยโรคเป็นมากจนตับแข็งไปแล้ว(Irreversible stage) การรักษาคงทำได้เพียงการประคับประคอง หรืออาจต้องใช้เทคนิคการผ่าตับเปลี่ยนตับซึ่งมีความยากอยู่ที่การหาอวัยวะที่จะเข้ากับร่างกายเราได้นั้นค่อนข้างยากนั่นเอง       

ด้วยเหตุผลที่ว่าความรุนแรงภาวะไขมันแทรกตับนี้เกิดจากหลายๆปัจจัยในการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องใช้แนวคิดการรักษาแบบบูรณาการและต้องได้รับความร่วมมือจากคนไข้อย่างดี ผลการรักษาถึงจะออกมาดี ดังนี้
    1. การปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสมดุลการเผาผลาญและนาฬิกาชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการนอนดึก ตื่นแต่เช้าเพื่อออกกำลังกายกระตุ้นฮอร์โมน ระบบการเผาผลาญและภูมิต้านทาน ทานอาหารเช้าให้เต็มที่เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารให้ครบถ้วน เคี้ยวอาหารนานเพื่อสนับสนุนระบบการย่อยอาหาร เลือกอาหารให้เหมาะกับร่างกายหรือตามกรุ๊บเลือด ลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันโดยเฉพาะในมื้ออาหารเย็น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญของร่างกาย ในการสลาญไขมันส่วนเกินที่สะสมในช่องท้อง ในเนื้อเยื่อตับและชั้นไขมันต่างๆ

  2. หลีกเลี่ยงการรับสารพิษทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย เช่น เลือกบริโภคผักผลไม้ออแกนิค และควรล้างทำความสะอาดผักและผลไม้ทุกชนิดก่อนรับประทาน ,หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดต่าง ๆ ถ้าไม่จำเป็น ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ เลือกใช้ผลิตภัณท์จากธรรมชาติมาเป็นเครื่องสำอาง หรือการทำสีผมมากกว่าใช้สารเคมีทั่วไป หลีกเลี่ยงการทานถั่วลิสงที่คั่วไว้นานแล้วเพราะอาจได้อัลฟ่าท็อกซินจากเชื้อราได้
 3. การเลือกใช้สารอาหารบำบัดเพื่อสนับสนุนการทำงานของเซลล์ตับ พบว่ามีงานวิจัยทางธรรมชาติบำบัติหลายอย่างกล่าวถึงสารอาหารจากธรรมชาติที่มีสารสำคัญในการสนับสนุนเอนไซม์ต่าง ๆ ของตับเพื่อขจัดสารพิษ อาทิ silymarine ในสมุนไพร milk thistle สารกลุ่ม Thiol ในกระเทียมสด หอมแดงหรือผักที่มีกลิ่นฉุนต่าง ๆ เช่น คื่นช่าย, กรดอะมิโน เช่น cysteine ,glutamine,glutathione ทีมีส่วนสำคัญในการขจัดสารพิษออกจากตับ , สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น vitamin C vitamin E co enzyme q10 selenium การใช้ probiotic ในการปรับสมดุลทางเดินอาหาร
         ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญทั้งหมดที่จะทำงานประสานงานกันเหมือนวงดนตรีออร์เคสตรา ในการช่วยสนับสนุนเซลล์ตับในการกำจัดสารพิษต่าง ๆ

   4. แนวทางการรักษาด้วยวิธีล้างพิษแบบธรรมชาติบำบัด เช่น การอดล้างพิษ การสวนล้างลำไส้ การล้างสารพิษโลหะหนักที่เรียกว่า คีเลชั่นบำบัด ก็ถือเป็นช่องทางการดูแลสุขภาพทางเลือกที่หวังผลลดปริมาณสารพิษสะสมในร่างกายเพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานของเซลล์ตับ
   5. การสนับสนุนการซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ตับ เช่นการใช้สารอาหารจำพวกเปปไทด์ หรือยากลุ่ม homeopathy ก็ถือเป็นแนวทางการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกอีกทางที่หลาย ๆ ประเทศทางโซนยุโรป ใช้ควบคู่กับการรักษากับการแพทย์แขนงหลักและมีผลการตอบรับการฟื้นตัวของร่างกายค่อนข้างดี

          สำหรับผลการรักษานั้น หัวใจสำคัญคงอยู่ที่คนไข้ที่มีความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองมีวินัยในการดูแลตัวเองที่ดี แพทย์คงทำหน้าที่เสมือนโค้ชที่ช่วยอธิบาย วางแผนการดูแลและสนับสนุนด้านสุขภาพกับคนไข้ในด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ
       ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มีภาวะไขมันแทรกตับทุกท่าน ให้อดทนต่อการดูแลและรักษา และเชื่อมั่นว่าสุขภาพดีเราเองก็มีได้เช่นกัน

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us