เพราะเหตุใดปวดมากจึงนอนไม่หลับ

โทรศัพท์ : 026515988
เพราะเหตุใดปวดมากจึงนอนไม่หลับ
พญ.ส่งแสง กาญจนวิสิษฐผล ปริญญาโทการแพทย์แผนเยอรมัน และแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
เพราะเหตุใดปวดมากจึงนอนไม่หลับ

สัญญาณเตือนภัย 

     อาการปวด เป็นระบบเตือนภัยของร่างกายหรือ SOS Signal นั่นเอง เรียกว่าเป็นสัญญาณที่บอกเราว่าจุดที่ปวดนั้นมีความผิดปกติ เพื่อให้เราหยุดและหันมาทบทวนตัวเอง เพื่อทำการแก้ไขไม่ให้เกิดความบาดเจ็บและความเสียหายในส่วนนั้นมากยิ่งขึ้น ร่างกายของคนเราทุกส่วนจะมีตัวรับความรู้สึกปวด ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละอวัยวะ หากมือถูกของหนักกดทับ ร่างกายจะมีการส่งกระแสประสาทไปยังจุดรับที่ประสาทไขสันหลัง และส่งกระแสประสาทต่อไปยังสมอง เพื่อให้เราได้รับรู้ว่าเจ็บ ปวดที่มือ ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย

แล้วเหตุใดบางคนเมื่อมีอาการปวดมาก ๆ จึงนอนไม่หลับ?

     นั่นก็เพราะอาการปวด บาดเจ็บนั้นมากจนทำให้ร่างกายมีการส่งสัญญาณตลอดเวลา เพราะต้องการบอกให้ร่างกายทำการแก้ไข เพื่อไม่ให้การบาดเจ็บนั้นลุกลามมากกว่าที่เป็นอยู่ หลายคนคงเคยสงสัยว่า อาการปวดลักษณะใดที่ถึงขั้นทำให้นอนไม่หลับ...คงต้องบอกว่าความปวดที่เกิดขึ้นของคนเรานั้นมีสาเหตุของการปวดจากหลายสาเหตุ เช่น ทานอาหารแล้วปวดท้อง  นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วปวด คอ บ่า ไหล่ คิดมากจนปวดศีรษะและอากาศร้อน   มากๆ รู้สึกเมื่อยตัว โดยลักษณะอาการปวดที่ทำให้นอนหลับไม่ลึกหรือหลับไม่ต่อเนื่อง เช่น        การปวดจากเอ็นกล้ามเนื้อและการปวดจากอวัยวะภายใน เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดการจะปวดถึงระดับที่ทำให้นอนไม่หลับนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับความปวดที่เกิดว่ามากเพียงใด เพราะหากปวดมากกลไกของร่างกายย่อมส่งสัญญาณไปยังสมองตลอดเวลา เพื่อให้ร่างกายรับรู้และทำการแก้ไขความปวดนั้น และเมื่อการส่งสัญญาณความปวดมีอยู่ตลอดเวลาก็ย่อมส่งผลให้ผู้ที่ปวดนอนไม่หลับนั่นเอง 

     อาการปวดมากที่ทำให้นอนไม่หลับที่พบได้บ่อย เช่น อาการปวดแนวกระดูกสันหลัง ปวดอวัยวะภายในต่าง ๆ และปวดเอ็นกล้ามเนื้อ อย่างการปวดเอวเรื้อรัง เป็นต้น 

ปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่กระตุ้นทำให้นอนไม่หลับ

     แน่นอนว่าแค่อาการปวดมากจนทำให้นอนไม่หลับก็ว่าแย่แล้ว แต่เชื่อหรือไม่? มีคนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าตนเองได้เพิ่มปัจจัย ซึ่งส่งผลให้นอนไม่หลับให้กับร่างกายโดยไม่รู้ตัว แล้วปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้นอนไม่หลับมีอะไรบ้าง?...เช่น 

  • การดื่มชา กาแฟ ตอนหัวค่ำก่อนนอน  

  • การออกกำลังกายตอนกลางคืน ซึ่งทำให้ร่างกายมีการตื่นตัว 

  • การรับข้อมูลจากสื่อออนไลน์มากเกินไป ทำให้สมองต้องประมวลข้อมูลต่าง ๆ ก็เสมือนเป็นเครื่องจักรที่กำลังทำงานจึงทำให้ไม่รู้สึกง่วงนอน 



ปัญหาจากอาการปวดที่ทำให้นอนไม่หลับส่งผลกระทบกับร่างกายอย่างไร? 

     สมดุลของเราทุกคน คือ การตื่นในตอนกลางวัน และนอนในตอนกลางคืน แต่กลับกันหากกลางคืนไม่ได้นอนพักผ่อน ก็ย่อมทำให้วันรุ่งขึ้นมีอาการเบลอ สมองมึนชา ไม่แจ่มใส โดยเฉพาะ  ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ขับยานพาหนะใช้สมาธิ ก็ย่อมเสี่ยงเกิดอันตราย เรียกว่าเกิดผลกับสุขภาพได้ทั้งแบบทางตรงและทางอ้อมเลยทีเดียว 

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดมาก ๆ จนนอนไม่หลับ 

ศูนย์การแพทย์บูรณาการแอ็บโซลูท เฮลธ์ จะให้ความสำคัญในทุกกระบวนการรักษา ได้แก่ 

  • การค้นหาสาเหตุของอาการปวด เพื่อให้ทราบต้นทางที่มาของการปวดที่เกิดขึ้นว่าเป็นเช่นไร โดยการซักประวัติและสอบถามลักษณะอาการปวด เช่น 

    • ปวดเพียงบริเวณผิวภายนอก เนื่องจากมีสิ่งใดมากระทบทำให้เกิดการบาดเจ็บ 
    • ปวดแบบที่กระทบกับเส้นประสาททำให้มีอาการเจ็บ ๆ ชา ๆ หนักล้า  
    • ปวดแบบอักเสบ รู้สึกปวดแน่น ๆ ตึง ๆ ร้าว ๆ  
  • การรักษาแก้ไขที่ปัญหาอาการปวดนั้น ๆ ประกอบการรักษาที่ช่วยให้สามารถนอนหลับได้ด้วยวิธีต่าง ๆ 

     เช่น ให้วิตามินเพื่อช่วยให้นอนหลับ หรือใช้ยานอนหลับแบบเฉพาะหน้าในระยะสั้น ๆ เพราะในบางครั้งอาการปวดไม่สามารถรักษาหายในทันที ฉะนั้น การที่ช่วยให้คนไข้นอนหลับได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน พร้อมกับเลือกวิธีรักษาอาการปวดตามความเหมาะสม เช่น การฉีดโพรโลโซน (Prolozone) การฉีดโพรโลเธอราปี (Prolotherapy) และการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น 

ปวดระดับไหนจึงควรพบแพทย์ 

     เมื่อใดที่มีอาการปวดเกิดขึ้นก็ควรรีบพบแพทย์ เพราะเราไม่ควรละเลยสัญญาณที่ร่างกายเตือน แม้จะเป็นเพียงความปวดเล็กน้อย ดังเช่นประเทศเยอรมนีในอดีตที่เน้นใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเต็มที่จนเครื่องจักรพังเสียหายมาก จึงยกไปซ่อมแซม แต่หลังจากที่มีควอนตัม ฟิสิกส์ ได้มีการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยเมื่อไหร่ก็ตามที่เครื่องมือซึ่งใช้อยู่นั้นมีเสียงผิดปกติเพียงเล็กน้อย จะหยุดเครื่องและค้นหาสาเหตุเพื่อแก้ไขสิ่งผิดปกติทันที เพราะตระหนักแล้วว่าหากปล่อยให้เสียหายมากแล้วซ่อมแซมนั้น ไม่คุ้มเท่ากับแก้ไขทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อซ่อมแซมแก้ไขจุดเล็ก ๆ นั้นแล้วยังจะทำงานต่อไปได้ 

เช่นเดียวกับสุขภาพเรา บางอย่างถ้าเป็นมากจะไม่สามารถแก้ไขหรือกู้คืนได้ดังเดิม ฉะนั้น ให้ตระหนักเสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่ป่วย ปวด บาดเจ็บ แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรใส่ใจการรักษา เพราะนั่นหมายความว่าจะสามารถซ่อมแซม และมีโอกาสกู้คืนให้กลับมาเป็นปกติได้ง่ายขึ้น    

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการปวด 

  • ฝึกฟังสัญญาณร่างกาย 

     ด้วยการฝึกสติ ทำความรู้สึกตัว เมื่อพบอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ร่างกายส่งสัญญาณต้องให้ความสำคัญ เพราะปัญหาเล็ก ๆ หากไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมเพิ่มความบาดเจ็บรุนแรงทำร้ายสุขภาพได้

  • ปรับเปลี่ยนทัศนคติ 

     โดยอย่าให้เรื่องสุขภาพของเราเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย  ไม่ยอมดูแลสุขภาพพบแพทย์เมื่อมีปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่กลับปล่อยให้เป็นมาก มีอาการมากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนการรักษายุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 

  • ค้นหาการรักษาที่เหมาะกับตนเอง 

     ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างมาก มีการรักษาเพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ ดังนั้นเมื่อเราเกิดความปวดจึงควรศึกษาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะกับตนเอง ขณะเดียวกันก็ค้นหาแพทย์ที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ โดยตรง เพื่อประโยชน์สูงสุดของตนเอง  

  • การดูแลอาการปวดด้วยตัวเองเบื้องต้น 

     อย่างที่ทราบดีสิ่งที่เราควรทำเมื่อมีอาการปวด คือ รีบพบแพทย์ แต่บางครั้งด้วยภาระหน้าที่จึงไม่สามารถพบแพทย์ได้ทันที อย่างกรณีออฟฟิศซินโดรม อาจเลือกใช้วิธีการประคบ อบ นวด กายภาพบำบัด เพื่อช่วยบรรเทาอาการ และสำหรับการปวดจากตะคริว สามารถทานแมกนีเซียม แคลเซียม ซิงค์ เพื่อเป็นส่วนเสริมในส่วนที่ร่างกายขาดได้ด้วยเช่นเดียวกัน 


ความปวด คือ สิ่งที่แทบทุกคนต่างเคยผ่านมาแล้ว ขอเพียงเรารู้เท่าทันความปวด และเลือกวิธีรับมือ แก้ไขได้อย่างถูกต้อง ความปวดก็จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณอีกต่อไป  

........................

กัลยาณมิตรทางสุขภาพของคุณ


SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us