โรครูมาตอยด์ คืออะไร?
โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มในร่างกายทำงานผิดปกติ ไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ของผู้ป่วยเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อต่อ หนึ่งข้อหรือ พร้อมกันหลาย ๆ ข้อโดยเฉพาะข้อต่อขนาดเล็ก เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า แต่ก็มีบางกรณีที่ลามมาถึงข้อเข่าและข้อที่ไม่น่าจะเป็น เช่นข้อต่อของกระดูกสันหลังได้เช่นกัน ซึ่งหากผู้ป่วยปล่อยให้ข้อที่อักเสบนั้นทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยไม่เข้ารับการดูแลรักษา ก็อาจจะทำให้ข้อเกิดการผิดรูป และการความพิการตามมาได้ ทั้งนี้ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยบางรายมีการอักเสบในจุดอื่น ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอดหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
เสี่ยงเป็นโรครูมาตอยด์หรือไม่สังเกตได้จากอาการใด
ในการดำเนินโรคของของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น จะมีอาการอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ป่วยบางรายนั้นกว่าจะแสดงอาการใช้ระยะเวลานานเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการที่เด่น ๆ คือมีอาการปวดตามข้อเล็ก ๆ โดยเฉพาะเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าหลังจากที่ร่างกายของเราไม่ได้เคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน โดยอาการปวดนั้นจะย้ายตำแหน่งที่ปวดไปมา และเป็นอาการปวดแบบที่มีความสมมาตรกัน เช่นถ้าปวดมือขวา ต่อมาก็จะปวดมือซ้าย โดยจะเกิดขึ้นในตำแหน่ง มือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า คอ และหลัง ร่วมกับอาการบวม แดง และมีอาการข้อฝืด
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรครูมาตอยด์
- โดยทั่วไปจะพบว่าเพศหญิงนั้นเสี่ยงโรครูมาตอยด์มากกว่าเพศชาย
- คนวัย 55 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรครูมาตอยด์ หากครอบครัวไหนเคยมีคนในบ้านป่วยด้วยโรคนี้ก็มีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มากขึ้นเพราะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรครูมาตอยด์และโรคภูมิต้านทานไวเกินชนิดอื่นได้ด้วย
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเพราะสารเคมีในบุหรี่ เป็นต้นเหตุให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
การตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โดยทั่วไปแล้วในช่วงแรกของการเกิดโรค ผู้ป่วยมักจะไม่ทราบว่าอาการที่เป็นอยู่นั้น ใช่โรครูมาตอยด์หรือไม่ เพราะอาการเริ่มแรกที่แสดงออกนั้น จะใกล้เคียงกับอาการป่วยอื่น ๆ เหตุนี้ผู้ป่วยอาจต้องอาศัยการสังเกตให้มาก และเพื่อยืนยันโรค อาจจะต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นการตรวจเลือด ตรวจน้ำไขข้อ ตรวจเยื่อบุข้อ ตรวจภาพถ่ายทางรังสีข้อต่อ ซึ่งเป็นการตรวจหลัก ๆ ที่ใช้ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อแยกโรค และในแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการก็จะแนะนำการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์ในลำไส้ และการตรวจภาวะแพ้อาหารแอบแฝงชนิด IgG เพื่อตรวจดูว่าอาหารประเภทใดที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำ เป็นปัจจัยที่จะไปกระตุ้นการอักเสบที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงอาหารซึ่งเป็นต้นเหตุของการอักเสบนั้นได้อย่างตรงจุด เพราะในทางการแพทย์แบบบูรณาการนั้น จะไม่ได้เน้นการทานยาเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นถึงการดูแลแบบองค์รวม ทั้งเรื่องของปรับอาหาร ร่วมกับแนวทางอื่น ๆ เพื่อเสริมรักษา ลดการอักเสบลง เพิ่มความแข็งแรงของระบบลำไส้ และสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ ลดปริมาณการใช้ยาลง เพราะการรักษาด้วยหลายชนิด ในระยะยาวอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อตับไต และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยได้ ดังนั้นการรักษาเสริมด้วยการพึ่งพายาให้น้อยที่สุด จึงมีประโยชน์มากกับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ ต้องรักษาอย่าปล่อยไว้
ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ทุกคนจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา เพราะหากไม่รักษาแล้วจะส่งผลต่อความพิการผิดรูปผิดร่างของข้อต่อ และมีโอกาสข้อติดแข็งใช้งานไม่ได้ ซึ่งส่งผลร้ายต่อคุณภาพการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก
โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรครูมาตอยด์นั้น จะเน้นที่การควบคุมโรคด้วยยาเป็นหลักโดยประกอบไปด้วย กลุ่มยาสเตียรอยด์ กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ กลุ่มยากดภูมิต้านทาน กลุ่มยาเปลี่ยนแปลงการดำเนินโรค และกลุ่มยาชีวภาพ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านทานการแสดงออกที่ผิดปกติของภูมิต้านทานอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็พบว่าผู้ป่วยโรครูมาตอยด์จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยากลุ่มชีวภาพ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงได้ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังคงได้รับยากลุ่มก่อนหน้านี้ โดยที่ยาหลายตัวนั้นอาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งส่งผลที่ตาและการมองเห็น ส่งผลต่อตับ ส่งผลที่ไตทำให้ไตเสื่อม ส่งผลต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และบางครั้งก็ยังส่งผลให้ผู้ป่วยนั้นเกิดภาวะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ โดยนับว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เป็นอย่างมาก
ขณะที่ยากลุ่มชีวภาพนั้นแม้จะมีประสิทธิภาพสูง พบผลข้างเคียงไม่มากแต่ในบางกรณีก็เกิดผลข้างเคียงเช่นการติดเชื้อขั้นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยากลุ่มนี้จึงถูกจัดเป็นยากลุ่มที่ 3 หรือ 4 เมื่อยากลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับไม่เห็นผล หรือผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยากลุ่มแรก ๆ ได้เท่านั้น
ฉะนั้นเมื่อการรักษาต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปและต้องทานยาอย่างยาวนานโดยที่ไม่รู้ว่าจะหยุดได้เมื่อไหร่ การรักษาโดยเลี่ยงการพึ่งพายาให้น้อยที่สุดจึงเป็นทางออกของปัญหาเหล่านี้
รู้จักต้นเหตุของการเกิดโรคเพื่อการรักษาที่ตรงจุด
ในทางการแพทย์แบบบูรณาการนั้น มองว่าโรครูมาตอยด์เป็นความผิดปกติของภูมิต้านทานชนิดหนึ่งมีสาเหตุ ได้หลากหลายเช่น สารพิษตกค้าง การอักเสบในร่างกาย พันธุกรรม โดยมักพบว่าสัมพันธ์กับระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะนาน ๆ แล้วเกิดภาวะเสียสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ที่ต่อมาเกิดการอักเสบจากจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้เซลล์ผนังลำไส้เกาะตัวกันไม่แน่น (เกิดภาวะ Leaky Gut ) ซึ่งส่งผลให้อาหารที่ย่อยไม่ละเอียดเป็นโมเลกุลใหญ่อยู่ ถูกดูดซึมเข้าไปกระทบกับระบบน้ำเหลืองในลำไส้และเกิดการสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา
โดยภูมิต้านทานและโมเลกุลของอาหาร ล่องลอยไปในกระแสเลือด ไปกระตุ้นที่ระบบของข้อต่อ และก่อให้เกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ ในระบบข้อต่อ โดยพบว่าในบางกรณีภูมิต้านทานผิดปกติชนิดรูมาตอยด์ อาจจะเกิดจากการติดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดเรื้อรัง โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการมาก เช่น มีเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดเจริญเติบโตมากขึ้นในกระเพาะปัสสาวะหรือมีเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดเจริญเติบโตมากขึ้นในทางเดินอาหาร และส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาข้ออักเสบขึ้นได้
ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการตรวจจุลินทรีย์ของลำไส้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อแยกเชื้อและหาทางรักษา มีการตรวจภาวะความไวต่ออาหารบางชนิด ซึ่งกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานผิดปกติก่อการอักเสบที่ผิวข้อ ผู้ป่วยบางรายมีสารโลหะหนักที่ไปกระตุ้นการอักเสบซึ่งก่อให้เกิดโรคคล้ายกับโรครูมาตอยด์
ด้วยข้อมูลดังกล่าวแนวทางการแพทย์บูรณาการจึงให้ความสำคัญกับการตรวจลงลึก ไปถึงต้นเหตุของการเกิดโรค และรักษาตามสาเหตุ มากกว่าที่ควบคุมอาการ เพราะการควบคุมอาการ เป็นหน้าที่ในส่วนของการแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้ว
โรครูมาตอยด์รักษาแบบบูรณาการ ทานยาน้อย แต่ส่งผลดีในระยะยาว
- Autohaemotherapy ในประเทศเยอรมันได้มีการพัฒนาการรักษาด้วยเลือดของตนเองที่เรียกว่า Autohaemotherapy ในซึ่งการรักษาด้วยเลือดของตัวเองมีหลายวิธี เช่น การนำเลือดมาผ่าน Ozone เพื่อให้ Ozone นั้นเปิด Antigen ของภูมิต้านทานและเชื้อที่ผิดปกติเหล่านั้นออกมา และไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิต้านทานอีกหนึ่งตัวขึ้นมาเพื่อทำลายภูมิต้านทานที่ผิดปกติ
- วัคซีนเฉพาะบุคคลจากเลือดของตนเอง มีการนำเอาเลือดของผู้ป่วยมาดึงสารโปรตีนออก ให้คงเหลือไว้เพียงภูมิต้านทานชนิดผิดปกติ และนำ Hapten มาจัดเรียงเพื่อเป็น Antigen แล้วนำไปฉีดเข้ากระตุ้นในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อให้สร้าง Antibody ขึ้นมาทำลายภูมิต้านทานที่ผิดปกตินั้นทิ้งไป โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งยา และค่อย ๆ ปรับยาควบคู่กับการการปรับอาหารตามผลการตรวจเลือด ที่แนะนำให้งดเว้นอาหารที่ทานแล้วจะไปกระตุ้นภูมิที่มากเกินเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
- การขับสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายมีสารพิษคั่งค้างอยู่มากในระบบเนื้อเยื่อต่าง ๆ ร่างกายของเราก็จะพยายามกำจัดสารพิษออกไป แต่เมื่อใดที่สารพิษมีปริมาณมากเกินไปและร่างกายกำจัดออกไปได้ไม่หมด มีโอกาสที่ Hapten จะไปกระตุ้น Antigen ให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นมา โดยที่ภูมิส่วนใหญ่ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเซลล์ผิวข้อ จึงเกิดการอักเสบของเซลล์ผิวข้อขนาดเล็กได้ง่าย โดยทางแก้ของเรื่องนี้ก็คือการกำจัดสารพิษออกจากร่างด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจน อาจจะต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวัดระดับของสารพิษและโลหะหนักที่สะสมในร่างกาย เพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและตรงจุด ตามแนวทางของการรักษาแบบบูรณาการที่เน้นการรักษาที่ต้นเหตุ
- การใช้โภชนเภสัช โดยปกติแล้วการทานยาในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว นั้นจะมีผลต่ออวัยวะเช่นตับและไต ฉะนั้นการใช้โภชนเภสัชเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ก็คือจะช่วยปกป้องอวัยวะดังกล่าวได้ นอกจากนี้เมื่อมีการใช้โภชนเภสัชเข้าร่วมรักษา ก็จะช่วยทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการทานยาลงได้โดยที่ผู้ป่วยอาการยังดีอยู่
ด้วยแนวทางการดูแลและคำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกหนทางในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ได้อย่างยั่งยืนและยาวนานโดยไม่ต้องพึ่งการทานยาเพียงอย่างเดียว
เข้าสู่ระบบ
Create New Account