ความหิว & ฮอร์โมนเลปติน Leptin

โทรศัพท์ : 026515988
ความหิว & ฮอร์โมนเลปติน Leptin
นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต
ความหิว & ฮอร์โมนเลปติน Leptin

ทำไมรับประทานเยอะ..แต่ยังไม่รู้สึกอิ่ม แถมรับประทานได้เรื่อย ๆ อีก ?
ทำไมรับประทานขนมแล้วหยุดไม่ได้ ?

โดยปกติร่างกายของคนเรา เมื่อมีแคลอรี่ส่วนเกินจากอาหาร ตับจะอาศัยฮอร์โมนอินซูลินเพื่อเปลี่ยนอาหารส่วนเกินให้เป็นไขมัน เมื่อมีไขมันส่งไปยังเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น เซลล์ไขมันจะสร้างฮอร์โมนเลปตินออกมา เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปที่สมองว่า ช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารมาก
เพราะกำลังรับประทานเกิน เหลือเก็บเป็นไขมันแล้ว

ฮอร์โมนเลปติน คือ ฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกอิ่ม เราจึงไม่ต้องรับประทานอาหารเป็นจำนวนมากเกินความต้องการแต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารและพฤติกรรมการบริโภคยุคปัจจุบัน ทำให้ระบบควบคุมความอยากนี้เสียไป อาหาร ขนม ของขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ขนมหวาน น้ำตาล ฯลฯ ที่เรารับประทาน ปัจจุบัน มีแคลอรี่ส่วนเกินเกิดขึ้นมากมาย และต่อเนื่องจนร่างกายผลิตฮอร์โมนเลปตินออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สมองกลับดื้อ เพราะรสชาติตลอดจนความหวาน ส่งเสริมให้เราอยากรับประทานแล้ว อยากรับประทานอีก ภาวะนี้เรียกว่า การดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายคือ เราจะรับประทานอาหารได้เรื่อย ๆ และมีความอยากทั้งที่ท้องยังอิ่มอยู่ เช่น รับประทานอาหารมื้อเย็นแล้ว ค่ำ ๆ ก็สามารถรับประทานขบเคี้ยว ผลไม้ หรือดื่มน้ำผลไม้ นมสดได้อีก เป็นต้น

คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล
คาร์โบไฮเดรต คือ อาหารจำพวกแป้ง ในธรรมชาติพบในพืชแทบทุกชนิด และมีมากในพืชที่มีหัวโตในดิน ธัญญาหาร ในระบบทางเดินอาหาร คาร์โบไฮเดรต จะถูกย่อยจนเป็นน้ำตาล โดยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ กลูโคส กับ ฟรุกโตส

กลูโคส คือน้ำตาลที่อยู่ในอาหารจำพวกแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต ทุกชนิด เช่น ข้าว ขนมปัง ฯลฯ ส่วนน้ำตาลทราย หรือซูโครส ได้มาจากพืชที่ให้น้ำตาล เช่น อ้อย มะพร้าว ฯลฯ เป็นส่วนประกอบในขนม เครื่องดื่ม และอาหาร เมื่อย่อยแล้วจะได้ กลูโคสหนึ่งโมเลกุลและฟรุกโตสอีกหนึ่งโมเลกุล ดังนั้น ทุกครั้งที่เรารับประทานน้ำตาลทราย เราจะได้ทั้งกลูโคสและฟรุกโตสเท่า ๆ กัน

ฟรุกโตส พบในน้ำผึ้ง ผลไม้สุก ผลไม้รสหวาน น้ำตาลในเครื่องดื่ม โดยทั่วไปผลไม้จะมีน้ำตาลทั้งสามชนิดคือ กลูโคส ซูโครส และฟรุกโตส ซึ่งฟรุกโตส มีขบวนการเผาผลาญแตกต่างจากกลูโคส เมื่อร่างกายรับกลูโคสเข้าไปจะกระตุ้นการสร้างอินซูลิน เพื่อนำพากลูโคสเข้าไปภายในเซลล์ ร่างกายเรารวมทั้งสมองจะใช้กลูโคสเป็นหลัก ส่วนฟรุกโตส ไม่ผ่านอินซูลิน เมื่อร่างกายได้รับฟรุกโตส เกือบทั้งหมดไปเผาผลาญที่ตับ ในภาวะที่เรามีกลูโคสเพียงพอ ฟรุกโตสจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ น้ำตาลฟรุกโตส จึงเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการเมตาโบลิก หรือภาวะโรคชุด ได้แก่ ไขมันสูง น้ำตาลสูง ไขมันดีต่ำ ลงพุง ความดันขึ้น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California ทำการเปรียบเทียบผลของการบริโภคน้ำตาลสองชนิด พบว่าน้ำตาลฟรุกโตส กระตุ้นสมองส่วน Reward Area ได้มากกว่าน้ำตาลกลูโคส ส่งผลกระตุ้นความหิวมากกว่า และเกิดความต้องการอาหารมากกว่า บางคนอยากลดน้ำหนัก เมื่อหิวก็รับประทานผลไม้หวาน ๆ หรือน้ำผลไม้ คิดว่าจะอิ่มจะได้ไม่ต้องทานอาหารมาก แต่แล้วกลับหิวและอยากรับประทานอาหารที่มีรสชาติ และรับประทานได้มากขึ้น ลงเอยด้วยอ้วนกว่าเดิม ลดน้ำหนักไม่ได้ น้ำตาลในน้ำอัดลม มีความแตกต่างจากน้ำตาลทรายทั่วไป คือ มีปริมาณฟรุกโตสสูงกว่ากลูโคส ดังนั้นจึงส่งผลร้ายต่อร่างกายมากกว่า

ฮอร์โมนเลปติน Leptin คือตัวช่วยชั้นเลิศที่จะส่งสัญญาณบอกถึงปริมาณอาหารที่ร่างกายควรจะได้รับอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำลายสุขภาพและฮอร์โมนเลปติน อย่าง “น้ำตาล” ให้ร่างกายได้รับเฉพาะที่ต้องการเท่านั้น เนื่องจากเจ้าความหวานอร่อย มักกลายชนวนของปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us