น้ำตาลกับเบาหวาน น่ากลัวกว่าที่คิด

โทรศัพท์ : 026515988
น้ำตาลกับเบาหวาน น่ากลัวกว่าที่คิด
นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต
น้ำตาลกับเบาหวาน น่ากลัวกว่าที่คิด

โรคเบาหวาน ถ้าให้นึกถึงคำพูดที่คุ้นชิน คงหนีไม่พ้นที่ว่า “กินน้ำตาลมาก ๆ ระวังเป็นเบาหวาน” น้ำตาลน่ากลัวขนาดนั้นเลยหรือ? 

จากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมา ไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องนี้ได้ การบริโภคน้ำตาลจำนวนมาก สัมพันธ์กับโรคอ้วน และโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน จากข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถิติการรับประทานน้ำตาล พ.ศ. 2538 คนไทยบริโภคน้ำตาลประมาณวันละ 7 ช้อนชา ในระยะ 20 ปีถัดมา การบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า ประมาณวันละ 23 ช้อนชา ส่วนภาวะโรคอ้วนของคนไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนเพิ่ม 3 เท่า ณ ปัจจุบัน คนไทยกว่า 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกิน และ 1 ใน 10 เป็นโรคอ้วน ส่วนในเด็กอายุ 1-14 ปี พบว่าหนึ่งในสิบ เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกิน


ความน่ากลัวของน้ำตาล  

น้ำตาลแฝง อาหารเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบัน บ่อยครั้งมองไม่เห็นถึงน้ำตาลแฝง เช่น น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชานมไข่มุก ชาเขียว หรือแม้กระทั่งนมเปรี้ยว ปริมาณ 350-500 ซีซี มีน้ำตาลเฉลี่ยสูงถึง 10-19 ช้อนชา เลยทีเดียว  


น้ำตาลกับสมอง ผลของน้ำตาลที่มีต่อสมองพบว่า น้ำตาลไปออกฤทธิ์ที่กลไกการให้รางวัลส่งผลให้ต้องการรับประทานอาหารมากขึ้น รู้สึกไม่อิ่มอยากรับประทานอีก น้ำตาลส่งผลให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ไขมันสะสมในตับ ไขมันช่องท้อง อ้วนลงพุง และเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน น้ำตาลยังกระตุ้นตัวรับในสมอง ตำแหน่งเดียวกับที่สารเสพติดทั้งหลายออกฤทธิ์จึงเสพติดน้ำตาลได้ง่าย 

ผลจากการบริโภคน้ำตาล รวมทั้งคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป ร่างกายจะย่อยคาร์โบไฮเดรตกลายเป็นน้ำตาลดูดซึมเข้ากระแสเลือด ร่างกายจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนฮินซูลินนำน้ำตาลเข้าไปภายในเซลล์ ร่างกายจะถูกกระตุ้นแล้วกระตุ้นอีก โดยเฉพาะวิถีชีวิตปัจจุบันรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ แถมของว่างอีก ทำให้กระบวนการจัดการน้ำตาล อ่อนล้าและเริ่มเกิดภาวะดื้อ เราเรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ในภาวะนี้อินซูลินจะมีปริมาณสูงในเลือด เมื่อรับประทานน้ำตาลจะสร้างเป็นไขมันสะสมในตับ ในช่องท้อง ใต้ผิวหนัง ยังส่งผลให้น้ำตาลขึ้นสูงและค้างในเลือดนานหลังอาหารกลายเป็นโรคเบาหวาน


ความจริงของ “ขนมขบเคี้ยว” ได้ถูกออกแบบให้รับประทานแล้ว อยากรับประทานอีกจนหมดถุง ไม่ใช่แค่ชิ้นสองชิ้น อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว ว่าจ้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์อาหารจำนวนมาก เพื่อหารสชาติที่กระตุ้นต่อมความอยากแบบแรงๆ เพื่อให้ลูกค้ารับประทานแบบหยุดไม่ได้ เพราะถ้ารับประทานขนมขบเคี้ยวที่มาจากธรรมชาติ เช่น อัลมอนด์ดิบ รับประทานสักพักก็หยุดด้วยความเมื่อยกราม แต่ถ้ารับประทานอัลมอนด์ปรุงรส จะหยิบไม่หยุดจนกว่าจะหมดถุง ถ้ามีหลายถุงก็รับประทานได้เรื่อย ๆ จะหยุดเพราะเมื่อยมือไม่ใช่เมื่อยกราม นี่คือความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์อาหาร ที่นำมาใช้เพื่อขายสินค้าได้มากขึ้น


น้ำตาลเกินที่อยู่ในเลือด จะเปลี่ยนเป็นสารพิษ Glycotoxin โดยการจับกับโปรตีนและไขมันที่อยู่ในเลือด กลายเป็นผลผลิตเชื่อมน้ำตาลแบบสมบูรณ์ (Advance Glycation End Products) ซึ่งไปจับกับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ส่งผลกระตุ้นการสร้างอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไว (Reactive Oxygen Species) ไปก่อปฏิกิริยาสนิมในร่างกาย ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ และกระตุ้นการสร้างสารก่อการอักเสบชนิดต่าง ๆ ก่อพยาธิสภาพขึ้นในระบบร่างกาย

ข้อมูลข้างต้น คือส่วนหนึ่งที่อยากนำเสนอให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำตาลกับร่างกาย คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า น้ำตาลมักอยู่ในอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่มที่อร่อย ๆ และเราจะทำเช่นไรให้ห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ คงบอกได้อย่างเดียวว่าต้องฝึกวินัย ไลฟ์สไตล์ในการเลือกอาหาร เพื่อสุขภาพของเราเอง...เริ่มต้นตั้งแต่มื้อนี้กันเลย 


   

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us