โรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่...ซึมเศร้า

โทรศัพท์ : 026515988
โรคซึมเศร้า ไม่ใช่แค่...ซึมเศร้า
พญ.ส่งแสง กาญจนวิสิษฐผล ปริญญาโทการแพทย์แผนเยอรมัน และแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
โรคซึมเศร้า  ไม่ใช่แค่...ซึมเศร้า

     เมื่อได้ยินใครกล่าวถึงโรคซึมเศร้า คนทั่วไปมักเข้าใจว่าคือ ซึมเศร้า แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ซึ่งรายละเอียดแท้จริงเป็นเช่นไร เราไปพูดคุยกับพญ.ส่งแสง กาญจนวิสิษฐผล ปริญญาโทการแพทย์แผนเยอรมันและแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย พร้อม ๆ กัน 

พญ.ส่งแสง กาญจนวิสิษฐผล กล่าวว่า “ซึมเศร้า” เป็นภาวะที่จิตใจตกต่ำ หดหู่ เศร้า เสียใจตามธรรมชาติแบบชั่วคราวในเวลาสั้น ๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนที่รัก ความผิดหวัง ส่วน “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าที่เป็นต่อเนื่องและมีอาการต่าง ๆ เข้าเกณฑ์การวินิจฉัย ซึ่งผู้ที่เป็นมีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 

อาการที่พบส่วนใหญ่ เช่น หดหู่ สะเทือนใจ ร้องไห้ง่าย สมาธิไม่ดี รู้สึกเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำสิ่งใด ขาดกำลังใจ แยกตัวจากสังคม สิ้นหวังในชีวิต รู้สึกไร้ค่า มีความคิดอยากตาย และทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

 

พญ.ส่งแสง กล่าวต่อว่าเหตุผลหลักของโรคซึมเศร้า ได้แก่

  1. ยาบางชนิดหรือโรคทางกายต่าง ๆ ที่มีอาการเรื้อรัง เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดเรื้อรัง พาร์กินสัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาระยะยาว 

  2. จิตใจ เกิดเหตุการณ์ในชีวิตที่ผิดหวัง สูญเสียอย่างแรง พบภาวะวิกฤตในสังคม เช่น คนในครอบครัวเสียชีวิต คนรักบอกเลิก หรือเกิดโรคระบาด อย่างเช่นที่ทั่วโลกมีการระบาดของ COVID -19 เป็นต้น 

“หลายครอบครัวมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและต้องการพามาพบแพทย์ แต่ไม่รู้ว่าควรทำเช่นไร เราจะบอกเสมอว่า อันดับแรกคนใกล้ชิดต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากเข้ามาคุยและรู้สึกได้ว่ามีเพื่อนที่พร้อมรับฟัง หลังจากนั้นค่อยๆ เข้าหาอย่างเป็นมิตร ชักชวนให้ร่วมกิจกรรม โดยใช้การชักชวนไม่ใช่สั่งให้ทำ ซึ่งอาจเริ่มจากกิจกรรมที่ทำในช่วงสั้น ๆ เช่น ไปวัดทำบุญ ถวายสังฆทาน ต่อมาก็พูดคุยถึงความรู้สึกซึมเศร้าที่เกิดขึ้นว่าทำให้ทุกข์หรือไม่ และค่อยๆ ชี้นำให้เข้ารับการรักษากับแพทย์ และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเสมอ คือ ป้องกันไม่ให้มีโอกาสฆ่าตัวตาย เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีโอกาสที่จะคิดฆ่าตัวตายได้”  

สำหรับการรักษาด้วยแนวทางการแพทย์บูรณาการ แพทย์จะพูดคุยทำความเข้าใจ ให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามเพื่อพิจารณาว่าเป็นโรคซึมเศร้าระดับใด พร้อมกับให้คำแนะนำและให้การรักษาด้วยยา ได้แก่ กลุ่มยาต้านเศร้า     กลุ่มยาที่เกี่ยวกับอารมณ์ และกลุ่มยานอนหลับ ทั้งนี้โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ และการรักษาแบบองค์รวมยังช่วยให้หายป่วยได้เร็ว เนื่องจากเน้นแก้ปัญหาทางใจอย่างละเอียดลึกซึ้งและรอบด้าน เช่น เป็นโรคซึมเศร้าเพราะอกหัก การรักษาของเราจะไม่ใช่แค่รักษาด้วยยา แต่จะแนะนำถึงการเปลี่ยนทัศนคติให้กลับมารักตนเองด้วย เป็นต้น พญ.ส่งแสง กล่าว

พญ.ส่งแสง กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา ครอบครัวคือส่วนสำคัญ โดยจะต้องทำความเข้าใจทั้งภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการรักษา ไม่เพิ่มความกดดันให้ผู้ป่วย และเทคนิคที่ดีอีกประการหนึ่งคือการใช้ชีวิตตามแนวคำสอนของหลักศาสนาที่นับถือ เพราะเป็นอีกองค์ประกอบที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีได้เร็วขึ้น    

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ ขอเพียงอย่าปล่อยไว้ รีบรักษา และครอบครัว คือ ส่วนสำคัญที่ต้องเข้าใจ    เห็นใจและให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยก้าวผ่านความรู้สึกติดลบภายในจิตใจ และพร้อมกลับมาใช้ชีวิตที่มีความสุขได้โดยเร็ว


SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us