ตรวจเลือดประเมินสุขภาพ...จำเป็นต้องอดอาหารหรือไม่

โทรศัพท์ : 026515988
ตรวจเลือดประเมินสุขภาพ...จำเป็นต้องอดอาหารหรือไม่
นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต
ตรวจเลือดประเมินสุขภาพ...จำเป็นต้องอดอาหารหรือไม่

การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องน่าเบื่อและเสียเวลา สำหรับหลายคน ทั้งมักมีคำถามว่า ทำไมต้องอดอาหารก่อนเจาะเลือด ไปถึงรพ.เจาะเลือดเลยได้หรือไม่? ในความเป็นจริงมีทางออกเช่นไร

การไปตรวจสุขภาพต้องไปสถานพยาบาล 3 ครั้ง พบแพทย์เพื่อปรึกษาและสั่งตรวจ 1 ครั้ง พอวันเจาะเลือดต้องอดอาหารและเครื่องดื่ม 8-14 ชั่วโมง ตั้งแต่สองทุ่มไปจนกว่าจะเจาะเลือดหมดไปแล้วครึ่งวัน และพอวันไหนได้ผลเลือดถึงจะได้ปรึกษากับแพทย์



เหตุผลหลัก ที่ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 12 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด มี 2 ประการ คือ
เหตุผลประการที่หนึ่ง คือ ต้องการทราบระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน (รายละเอียดจากตาราง) ส่วนผู้ที่ระดับน้ำตาลผิดปกติก่อนเป็นเบาหวาน (วัดค่าได้ 100-125 mg/dL) ถ้ายึดตามแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. 2560 สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ให้ตรวจความทนต่อกลูโคส ด้วยการนัดมาอีก 1 วันอดอาหารมาด้วย แล้วดื่มสารละลายกลูโคสจำนวน 75 กรัม และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 30 นาที ถึง 1 ชม. จนครบ 2-3 ชม. ในปี 2011 องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ค่าน้ำตาลสะสม HbA1C ในการวินิจฉัยเบาหวาน เพื่อไม่ต้องอดอาหาร ลดความซ้ำซ้อน และได้รับความร่วมมือจากผู้รับการตรวจดีขึ้น (แต่เดิมใช้แค่ติดตามผลการรักษา ไม่ได้ใช้วินิจฉัย)

ค่าปกติ   ภาวะก่อนเบาหวาน       โรคเบาหวาน      ระดับเป้าหมาย  
  ระดับน้ำตาลอดอาหาร 8-14 ชั่วโมง     <100 mg/dL     100-125 mg/dL   >=126 mg/dL     90-130 mg/dL  
  ระดับน้ำตาลสองชั่วโมงหลังดื่มกลูโคส     <140 mg/dL    140-199 mg/dL   >=200 mg/dL
  ระดับน้ำตาลสะสม HbA1C  <5.7%   5.8-6.4%   >=6.5% <6.5%
  ระดับน้ำตาลหลังอาหาร <140 mg/dL 140-199 mg/dL

>=200 mg/dL
และมีอาการ

<180 mg/dL


สมาคมโรคเบาหวานประเทศไทย ปี 2561 ยังไม่แนะนำ ให้ใช้ค่าน้ำตาลสะสม HbA1C ในการวินิจฉัยเบาหวาน แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในเอกสารแนวทางเวชปฏิบัติ CPG ของสมาคมฯ ฉบับปี 2560 ระบุว่าเพราะค่าใช้จ่ายการตรวจสูงกว่า และห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน ได้รับการรับรองโดย NGSP (www.ngsp.org) และเทียบมาตรฐานอ้างอิงกับวิธีวัดของ DCCT (Diabetes Control and Complications Trial reference assay) ยังมีน้อย ดังนั้น หากเราจะไม่ต้องตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหาร ยึดตามคำแนะนำของ WHO 2011 จึงสามารถทำได้ โดยเฉพาะในสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานห้องปฏิบัติการ

เหตุผลประการที่สอง เพื่อดูระดับไขมันชนิดต่าง ๆ ในเลือด ส่วนการตรวจเคมีในเลือดอื่น ๆ เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับของเสียและการทำงานของไต ตับ ความเสี่ยงมะเร็ง ส่วนการตรวจเลือดที่เหลือทั้งหมด ตรวจได้โดยไม่ต้องอดอาหาร ถ้าเช่นนั้นจำเป็นต้องตรวจระดับไขมันด้วยการอดอาหารหรือไม่? หากเปรียบเทียบการตรวจไขมันแบบไม่อดอาหาร ผลจะเป็นอย่างไร และช่วยในการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้นหรือไม่?

การศึกษาวิจัย...ช่วยไขคำตอบแนวทางการตรวจสุขภาพ 10 ปีที่ผ่านมา การวิจัยหลายชิ้น เปรียบเทียบผลการอดอาหาร หรือไม่อดอาหารที่มีต่อระดับไขมันชนิดต่าง ๆ แตกต่างกันไม่มาก และไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก ทั้งการตรวจเลือดแบบอดอาหารหรือไม่อดอาหาร ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผลเลือดแบบอดอาหารมีประโยชน์ในด้านการป้องกันและรักษาโรคมากไปกว่าผลเลือดแบบไม่อดอาหาร

ในปี 2009 เดนมาร์ก เป็นประเทศแรกยกเลิกอดอาหารในการตรวจเลือดทั่วไป เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ และการตรวจติดตามหลังจากนั้น โดยใช้มาตรฐานใหม่ที่ปรับปรุงแล้ว สำหรับผลไขมันชนิดต่าง ๆ ในหลอดเลือดแบบไม่อดอาหาร

ในปี 2013 แนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมโรคหัวใจ สหรัฐอเมริกา แนะนำว่าการตรวจไขมันในเลือด ไม่จำเป็นต้องอดอาหารอีกต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำแพทย์ว่า ควรตรวจโปรไฟล์ไขมันชนิดอดอาหาร เมื่อจะเริ่มต้นการใช้ยาลดไขมันกลุ่ม statin ครั้งแรก ปี 2014 NICE guideline ประเทศอังกฤษ หน่วยงานกำหนดมาตรฐานทางเวชปฏิบัติสำหรับแพทย์ของสหราชอาณาจักร เปลี่ยนคำแนะนำให้การตรวจประเมินไขมันในเลือดไม่จำเป็นต้องอดอาหารอีกต่อไป และแนะนำให้แพทย์ดูค่า Non-HDL C แทนค่า LDL เนื่องจากพยากรณ์ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบได้ดีกว่า

ปี 2016 สมาคมโรคหลอดเลือดแห่งสหภาพยุโรป ร่วมกับ สมาพันธ์เวชศาสตร์ห้องปฏิบัติการและเคมีทางคลินิกแห่งยุโรป แนะนำการตรวจประเมินสุขภาพ โดยทั่วไป เพื่อดูระดับไขมันในเลือดไม่จำเป็นต้องอดอาหาร

เมื่อเหตุผลสองประการที่ต้องอดอาหารก่อนตรวจเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ไม่มีนัยยะสำคัญเพียงพอทางวิทยาศาสตร์ และแนวโน้มองค์กรทางการแพทย์ประเทศต่าง ๆ วางแนวทางเวชปฏิบัติไปในทางเดียวกัน หากพิจารณาเป็นรายบุคคล สามารถเลือกตรวจเลือดแบบไม่อดอาหารได้เพื่อความสะดวกและลดความถี่ในการมารพ.

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us