การรักษาเบาหวาน
เบาหวานในระยะแรก ไม่ควรให้ยาที่ไปกระตุ้นการสร้างอินซูลินเพิ่ม เพราะอินซูลินมีมากอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงยากลุ่ม Sulfonylurea เพราะอินซูลินสูงมีปัญหา เนื่องจากหน้าตาของอินซูลินคล้ายกับ Growth factor ซึ่งสามารถย้อนกลับไปกดการสร้าง Growth hormone ได้ ยิ่งทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว ดังนั้นในช่วงแรกของโรค ควรใช้ยาที่เพิ่มความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน เช่น Metformin เป็นลำดับแรกก่อน และผู้ป่วยเบาหวานควรเช็คระดับของอินซูลิน และ C-peptide เพื่อประเมินว่าโรคอยู่ในระยะไหน ทางด้านไต ควรเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อดู ไมโครอัลบูมินเป็นระยะ โดยเฉพาะถ้าเป็นเบาหวานมาเกิน 5 ปี ต้องตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อประเมินสภาวะของไต ซึ่งจะมีความไวกว่าการตรวจค่าการทำงานของไตจากเลือด ทางด้านตา ควรมีการตรวจลานสายตา visual field และตรวจตาแบบขยายม่านตาเป็นระยะ
ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนที่ผมรู้จักเป็นเบาหวานมาหลายปี แต่ไม่ค่อยได้สนใจค่าผลการตรวจเหล่านี้เลย บางคนไม่เคยตรวจอย่างอื่นด้วยซ้ำ นอกจากน้ำตาลในเลือดเดือนละครั้ง และน้ำตาลสะสม HbA1C ทุก 3 เดือน ผมมีเพื่อนชาวอเมริกันเป็นเบาหวาน หมอของเขาให้ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วทุกวัน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการคุมอาหารของตัวเอง และเพื่อปรับยาให้เหมาะสมที่สุด เพราะการมีน้ำตาลขึ้นลงสูง การมีอินซูลินขึ้นลงสูง ล้วนอันตรายมาก สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ความจริงแล้วมีวิธีการและสารอาหาร ที่ช่วยชะลอขบวนการที่น้ำตาลเข้าไปทำลายเซลล์ได้ เพียงแต่ยังไม่มียาแผนปัจจุบันตัวไหน ที่ช่วยชะลอความเสื่อมที่ว่านี้ได้เท่านั้นเอง นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยสนใจว่าสถานการณ์เบาหวานของตัวเองอยู่ในระดับไหน หมอเองก็ไม่อยากตรวจมาก เพราะพอตรวจอะไรเพิ่ม เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ได้ผลมา ผู้ป่วยก็บอกแล้วแต่หมอ ถ้าผู้ป่วยไม่เปลี่ยนวิธีคิดในการดูแลตัวเอง ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ฯลฯ ตรวจไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะยาก็ไม่มีที่จะป้องกันความเสื่อมเหล่านั้น ไว้ไตวายแล้ว ค่อยฟอกเลือดให้ เส้นเลือดตีบแล้ว ค่อยทำบายพาสให้ หรือว่าตามองไม่ชัดแล้ว ค่อยส่งไปยิงเลเซอร์
กลไกการทำลาย จากโรคเบาหวาน
ถ้ากลับไปดูที่กลไกการทำลายโรคของเบาหวานก็จะพบว่ามีสองกลไก คือ ภาวะไกลเคชั่น Glycation ที่น้ำตาลเข้าไปจับกับโปรตีนจนทำงานไม่ได้ และภาวะที่มีการทำลายจากอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) ถ้าเช่นนั้น เราก็สามารถชะลอความเสื่อมเหล่านี้ได้ ด้วยการใช้สารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านปฏิกิริยาไกลเคชั่น ซึ่งพบได้ในสารอาหารมากกว่าที่จะเป็นยา ความเห็นของผมคือ คนไทยทั้งที่เป็นเบาหวานและไม่เป็นเบาหวาน แพทย์ทั้งที่เชื่อเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระและไม่เชื่อเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ ควรที่จะหันมาศึกษากลไกที่แน่ชัดของขบวนการทำลายล้างที่เกิดจากเบาหวาน ความสำคัญของสารพิษที่เกิดจากขบวนการไกลเคชั่น คือ Advanced Glycation End Products(AGE) และสารพิษที่เกิดจากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ (oxidative stress) คือ Advanced Lipoxidation End Products สารพิษทั้งสอง เราเรียกว่า glycotoxin ซึ่งก่อนหน้านี้เราให้ความสำคัญกับมันน้อยมาก แต่ปัจจุบันเราพบว่า มันมีบทบาทสำคัญในโรคจากความเสื่อม เพราะเราพบ glycotoxin สูงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคประสาทเสื่อมถอย เวลาเราตรวจค่าน้ำตาลสะสม Hemoglobin A1C นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของการที่ไกลโคท๊อกซินเข้าไปจับกับโปรตีนฮีโมโกลบินซึ่งอยู่ในเม็ดเลือด ทำให้มันทำงานไม่ได้ เม็ดเลือดนั้นก็จะไม่สามารถนำพาก๊าซออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกายได้
เรายังพบ glycotoxin อยู่ในอาหารมากมาย โดยเฉพาะอาหารที่ถูกความร้อน เพื่อเพิ่มสี กลิ่น รส หรือแม้กระทั่งเพื่อฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ หรือ สเตอริไรซ์ โชคร้ายที่จะบอกว่าสารพิษไกลโคท็อกซิน เรายังพบเป็นของแถมในการผลิตสิ่งเหล่านี้ คือ น้ำโคล่า ขนมอบ คาราเมล เบียร์ ฯลฯ ด้วย ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไกลโคท๊อกซิน จะเข้าไปสะสมในเม็ดเลือดทำให้มันทำงานไม่ได้ เข้าไปสะสมในหลอดเลือดที่ดวงตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม เข้าไปสะสมในเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเสื่อม เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อของไต ทำให้หน่วยไตทำงานไม่ได้ ฯลฯ
เราจะกินอย่างไร จึงจะปลอดภัยจาก ไกลเคชั่น และไกลโคท็อกซิน
ความจริงแล้ว กฎง่าย ๆ ข้อแรกคือ อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีโปรตีนสูง จะมีปริมาณสารพิษไกลโคทอกซินสูงกว่าอาหารจำพวกธัญพืชมากถึง 30 เท่า และ 12 เท่าตามลำดับ
กุญแจสำคัญของการเกิดสารพิษไกลโคท็อกซิน ก็คือ อุณหภูมิอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และอาหารที่มีฟรุกโตสสูง หากถูกความร้อนสูง ก็จะเกิดสารพิษนี้ในปริมาณมาก ควรหลีกเลี่ยงวิธีการปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนจัด เช่น คั่ว ทอด ปิ้ง ย่าง และควรหันไปใช้วิธีการที่ใช้ความร้อนต่ำกว่า เช่น ต้ม นึ่ง หรือที่ใช้ไฟต่ำ ๆ เวลานาน ๆ เช่น สตูว์, ตุ๋น จำไว้ว่า ความร้อนที่ทำให้ผิวของอาหารกลายเป็นสีน้ำตาล นั่นคือขบวนการที่โมเลกุลน้ำตาลในอาหารนั้นเข้าไปทำปฏิกิริยากับไขมันและโปรตีน ก่อให้เกิดสารพิษไกลโคท็อกซิน นั่นเอง และสารพิษชนิดนี้ เราพบว่า แม้ว่าร่างกายจะพยายามไม่ดูดซึมมัน (ประมาณ 70% ของไกลโคท็อกซินในอาหาร ร่างกายจะพยายามต่อต้านโดยการป้องกันไม่ให้มันดูดซึม) แต่อย่างไรก็ตาม ไกลโคท็อกซินที่ดูดซึมเข้าไปแล้วนั้น ร่างกายสามารถขับออกได้เพียง 33% ทางปัสสาวะ ที่เหลือมันเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายหากเราจะต้องออกไปทานนอกบ้าน หลักการง่าย ๆ ที่จะปกป้องตัวเองจากสารพิษไกลโคท็อกซินคือ ในร้านฟาสต์ฟู้ด อาหารส่วนใหญ่ เช่น มันฝรั่งทอด หมู/เนื้อ/ปลา ทอด/ย่าง/อบ ในฮัมเบอร์เกอร์ หัวหอมทอด ฯลฯ ล้วนอุดมด้วยสารพิษไกลโคท็อกซิน ถ้าทางร้านไม่มีเมนูเริ่มต้นที่เหมาะสม ให้สั่งสลัดมาทานเตรียมน้ำสลัดสุขภาพไปเองจากบ้าน ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์
เลือกเมนูประเภท ตุ๋น นึ่ง ต้ม แทนที่จะเป็นคั่ว ทอด ปิ้ง ย่าง หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำอัดลม โดยเฉพาะน้ำประเภทโคล่า
หลีกเลี่ยงเมนู ขนมที่ต้องอบ หรือใช้ความร้อนสูง หรือมีคาราเมล เช่น เค้ก คุกกี้
สารอาหารต้านไกลเคชั่น
น้อยคนที่จะรู้ว่า มีอนุพันธ์ของวิตามินบี 1 ชนิดหนึ่งที่เป็นสารต้านไกลเคชั่นที่มีประสิทธิภาพดีมาก นั่นก็คือ เบนโฟไธอามีน(วิตามินบี 1 ก็คือ ไธอามีน) ซึ่งยังไม่มีในบ้านเรา มีการศึกษามากมายในต่างประเทศ ที่ยืนยันว่า benfothiamine มีประโยชน์ในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต และเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
สารอาหารอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันดีมากกว่า และมีผลช่วยปกป้องร่างกาย ไม่ให้เกิดการทำลายด้วยขบวนการไกลเคชั่น ก็คือ คาร์โนซีน carnosine ประกอบด้วยกรดอมิโนสองชนิดคือ เบต้าอลานีน และฮีสทิดีน คาร์โนซีนสามารถจับกับโปรตีนได้ และปกป้องโปรตีนจากการเข้ามาทำลายของกลูโคส และอนุมูลอิสระ การศึกษาทางคลินิกพบว่า carnosine สามารถป้องกันหลอดเลือดแข็งที่เกิดจากเบาหวานได้
เป็นที่น่าเสียดายประการหนึ่งคือ ระบบแนวคิดและกฎระเบียบของ อ.ย. บ้านเรา แยกว่าอาหารคืออาหาร ยาคือยา เพราะฉะนั้น อาหารจะมาป้องกันรักษาโรคไม่ได้ ด้วยเหตุนี้สารอาหารหลายอย่างที่มีประโยชน์ จึงนำมาขึ้นทะเบียนในบ้านเราไม่ได้ เพราะถือว่ามีฤทธิคล้ายยา คือ ป้องกัน รักษาโรคได้ แต่สารอาหารก็คือ สารอาหาร ไม่มีองค์กรไหนที่จะยอมทุ่มทุนศึกษาวิจัยแบบยา เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีข้อมูลด้านการวิจัยทางคลินิก การทดลองในมนุษย์ เพื่อที่จะมาขึ้นทะเบียนให้เป็นยาในประเทศไทยได้ ความจริงแล้วอาหารนั่นแหละ คือ ยาที่สำคัญที่สุด สามารถป้องกันรักษาโรคได้มากมายมหาศาล แค่โรคจากความเสื่อมที่เกิดจากไกลเคชั่น ก็ครอบคลุมโรคสำคัญ ๆ เกือบทุกโรคไว้หมดแล้ว และก็มีสาเหตุสำคัญมาจากอาหาร และวิธีการปรุงอาหารนั่นเอง
ส่วนเรื่องยา ความจริงแล้วนอกจากยาแผนปัจจุบัน ถ้าหากว่าใครที่ยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ จากยาที่กินอยู่ อย่าเพิ่งรีบเพิ่มยา ลองหันไปใช้สมุนไพร และแร่ธาตุที่มีผลในการทำให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ดีขึ้น เช่น อบเชยสกัดแคปซูล โครเมี่ยม เป็นต้น ส่วนมะระขี้นกนั้น มีผลทั้งกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และช่วยน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานแล้ว จนตับอ่อนล้าไม่สามารถผลิตอินซูลินได้
เข้าสู่ระบบ
Create New Account