ภาวะความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

โทรศัพท์ : 026515988
ภาวะความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
บทความโดย นายแพทย์ ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต อาจารย์แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
ภาวะความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตพลเมืองโลกมากที่สุด จากสถิติ พบว่าในทุก ๆ 2 วินาที จะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1 คน ผู้ร้ายตัวจริงเบื้องหลังก็คือการที่เส้นเลือดแดง เกิดภาวะแข็งตัว ส่งผลให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดที่ขาอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต

ปัจจัยเสี่ยง คือ อะไรบ้าง

    ปัจจัยเสี่ยงที่เรารู้จักกันดีก็คือ การที่มีไขมันชนิดไม่ดี คือ โคเลสเตอรอลชนิด LDL มากเกินไปในหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ ดื่มอัลกอฮอล์ การใช้ยาคุมกำเนิด การมีโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน ไตรกลีเซอไรด์สูง  ความเครียดในครอบครัว ในที่ทำงาน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ เราพบปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญตัวใหม่ นั่นคือ ภาวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้นภายในร่างกาย โดยเฉพาะการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งกระตุ้นโดยอนุมูลอิสระและโลหะหนักที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย  

    ปัจจุบันนี้ สิ่งที่พยากรณ์ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีที่สุด มีค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ (relative risk) สูงสุด คือ การตรวจเลือดเพื่อหาค่าที่บ่งชี้ภาวะการอักเสบในร่างกาย hs-CRP ร่วมกับอัตราส่วนระหว่าง ไขมันโคเลสเตอรอลตัวดี HDL กับไขมัน โคเลสเตอรอลตัวร้าย LDL

ถ้าเป็นโรคนี้แล้ว จะดูแลตัวเองอย่างไร

    ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น เลือกอาหารให้ถูกต้อง ออกกำลังกาย ลดความเครียด  และเน้นการลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลตัวร้าย LDL ร่วมกับการใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่อตัวของลิ่มเลือด

อาหารที่ดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

    ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลา แกงผักต่างๆ ของชาวเหนือ เช่น แกงผักเซียงดา แกงแค ฯลฯ มีระดับสารต้านอนุมูลอิสระสูง ใช้ผักหลากหลาย ใส่ผักเยอะ แกงไตปลาของชาวใต้ อาจมีโซเดียม (เกลือ) สูงเกินไป แต่ช่วยให้เจริญอาหารดี หากจะทานต้องทานปริมาณน้อย ๆ ตักแต่เนื้ออย่าตักน้ำ แล้วทานเครื่องเคียงมาก ๆ มีผักเยอะมาก มีขมิ้นขาวซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระระดับสูง  หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ แป้ง ข้าวขาว ของทอด ของปิ้งย่าง อาหารมัน ของหวาน ขนม อาหารฝรั่งทุกชนิด ยกเว้นสลัดผัก ล้วนไม่ถูกกับโรคนี้ ชาวตะวันตกจึงเป็นโรคนี้มากกว่าชาวเอเชีย แต่ปัจจุบันชาวเอเชียเป็นโรคนี้มากขึ้น เพราะ globalization เรามีอาหารขยะให้เลือกมากขึ้น มีร้านอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ในขณะที่ร้านอาหารพื้นบ้านดี ๆ ขายแกงผักต่างๆ อร่อยๆ ไม่มีเลย มีแต่แผงข้างถนน

ถ้ายังไม่เป็น จะมีวิธีป้องกันโรคนี้อย่างไร บ้าง

    ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการ แต่ยังไม่เป็นโรค เช่น เคยมีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด  ควรตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับไขมันโคเลสเตอรอลตัวร้ายไม่ได้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับระดับไขมันตัวดี   ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา ตื่นตอนเช้าแล้ววิดพื้น 10 ครั้ง สกอตจั้มป์ 30 ครั้ง ซิตอัพอีก 10 ครั้ง ชกลมอีก 15 นาที ก็เป็นการออกกำลังกายแล้ว ฟิตเนส เซนเตอร์มีไว้สำหรับคนที่เขาแบ่งเวลาได้ เช่น แม่บ้าน คนทำงานเป็นเวลา แต่อากาศในนั้นสู้ที่บ้าน หรือที่สวนลุมไม่ได้  รับประทานผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น หากทำตามที่สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาแนะนำก็คือ วันละ 5 serving หรือ 5 มื้อนั่นเอง และยังแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกธัญพืชอีกวันละ 6 มื้อ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ น้ำมัน ของทอด ของปิ้งย่าง อาหารขยะต่างๆ น้ำอัดลม น้ำหวาน ของหวานต่างๆ หันมารับประทานอาหารที่ใช้ความร้อนต่ำ เช่น นึ่ง ตุ๋น ตอนเช้า อาจทานเป็นโจ๊กหรือซีเรียลธัญพืชและผักสดหนึ่งจาน  ตอนสาย ๆ ทานผลไม้กับธัญพืช ตอนกลางวันทานสลัดกับธัญพืช ตอนบ่ายทานผักผลไม้กับธัชพืช ตอนเย็นทานจำพวกซุปที่ชอบกับปลานึ่งและธัญพืชร่วมกับผักผลไม้ หลังจากหกโมงเย็นไปแล้วไม่ควรทานอะไรอีก หากจะรับประทานข้าวให้เลือกรับประทานเฉพาะข้าวกล้อง ในปริมาณมื้อละไม่เกินถ้วยเล็กๆ

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us