มีคนสงสัยว่า อาหาร จะต้านมะเร็งได้อย่างไร แล้วคนเป็นมะเร็ง ควรทานอย่างไร จึงจะดีที่สุด ก่อนอื่นต้องแยกให้ชัดเจนก่อนว่า การป้องกันมะเร็ง กับการรักษามะเร็ง เป็นคนละเรื่องกัน การป้องกันมะเร็ง เราจะเลือกใช้อาหารและสารอาหารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อาหารก็ต้องเลือกที่ปลอดสารพิษ หรือมีการล้างอย่างดี เช่น การล้างด้วยน้ำด่าง แช่ด้วยผงถ่าน หรือใช้เครื่องล้างผักสำเร็จรูป ซึ่งจะใช้โอโซนในการฆ่าเชื้อ ทำลายสารเคมีตกค้างและใช้อัลตร้าโซนิกในการทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยชะล้างสารเคมีตกค้าง ที่อาจฝังแน่นในเนื้อผักผลไม้ลึกลงไปกว่าที่ผิว การเลือกใช้วิธีไหนก็คงขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์และทัศนคติต่อการดูแลรักษาสุขภาพ เช่น ผงถ่าน ข้อดีคือ ดูดซับสารพิษได้ดี โรงพยาบาลทุกแห่งมีใช้ เวลาผู้ป่วยได้รับสารพิษที่ไม่มีข้อห้ามในการล้างท้อง ก็จะใช้ผงถ่านในการล้างท้อง เพื่อดูดซับสารพิษออกมา ผงถ่านกระปุกใหญ่ ใช้ได้นานเป็นเดือน ราคากระปุกละ 85 บาท ส่วนการใช้น้ำด่างและน้ำที่มีค่า ORP ติดลบ สำหรับคนที่ติดตั้งเครื่องทำน้ำด่างและน้ำ ORP เป็นลบไว้แล้วที่บ้าน ก็สามารถใช้น้ำชนิดนั้นมาแช่ผักผลไม้ได้เลย ความจริงผงถ่านเมื่อละลายน้ำแล้ว ก็จะเกิดความเป็นด่าง ซึ่งจะดึงดูดโมเลกุลของสารเคมีต่างๆ ให้หลุดออกมาจากผิวของผักผลไม้ได้ดี ส่วนเครื่องล้างสารพิษออกจากผักผลไม้ ราคาเครื่องละ 20,000 – 30,000 บาท ถ้าพอจะมีเงินซื้อ ก็ไปซื้อมาใช้ เพื่อสุขภาพเราเอง ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกังวล ใช้วิธีแช่ด้วยผงถ่าน
สารสกัดจากบร๊อคโคลี่
ถ้าเป็นมะเร็งแล้ว เราจะใช้วิตามินและสารอาหาร ไม่ใช่ในขนาดปกติ แต่เป็นขนาดที่จะมีผลทางเภสัช ออกฤทธิ์ในตำแหน่งเฉพาะๆ เพื่อรักษามะเร็ง เสมือนประหนึ่งเป็นยารักษามะเร็งทีเดียว เช่น สารสกัดจากบร๊อคโคลี่ ชื่อ I3C สามารถยับยั้งตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน มีฤทธิ์คล้ายยาเคมีบำบัดตัวหนึ่ง ซึ่งใช้รักษามะเร็งเต้านมคือยาทามอกซิเฟน เคยมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า I3C สามารถยับยั้งการเจริญของมะเร็งเต้านมชนิดมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ถึง 90% ในขณะที่ยาทามอกซิเฟนสกัดสามารถยับยั้งได้ 60% นอกจากนี้ I3C ยังสามารถหยุดยั้งการสังเคราะห์ DNA ในมะเร็งเต้านมชนิดไม่มีตัวรับเอสโตรเจนได้ 50% ซึ่งตัวยาทามอกซิเฟน ไม่สามารถยับยั้งได้
เคอคูมิน
สารอีกตัวหนึ่ง ได้มาจากสารสกัดขมิ้น เคอคูมิน พบว่า เคอคูมิน ยับยั้งขบวนการเจริญของมะเร็งในขั้นของการสร้างโปรตีนควบคุมการเจริญ ซึ่งในเนื้อเยื่อมะเร็งจะมีการสร้างโปรตีนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ ออกมามากผิดปกติ ทำให้เซลล์เจริญผิดปกติ เป็นมะเร็งในที่สุด เคอคูมินยับยั้งโปรตีนหรือยับยั้งตัวรับโปรตีนเหล่านี้ เช่น epidermal growth factor receptor, basic fibroblast growth factor, nuclear factor kappa beta จึงเป็นการควบคุมการเจริญของมะเร็ง
EGCG ในชาเขียว
ในชาเขียว มีสาร EGCG สารชนิดนี้ยับยั้ง nuclear factor kappa beta ซึ่งเป็นโปรตีนที่มะเร็งมีมาก มะเร็งสร้างขึ้นมาเพื่อเร่งการโต การศึกษาในปี 2001 พบว่า EGCG ช่วยยับยั้งการเจริญของมะเร็งได้ 58% ลดการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้ 30% และเพิ่มการตายของมะเร็ง 1.9 เท่า ยังพบอีกว่า EGCG ยับยั้งเอนไซม์ เทโลเมอเรส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ Cell เริ่มต้น มะเร็ง (cancer Mesenchymal stromal cell) อาศัยในการต่ออายุของมัน ดังนั้น EGCG อาจมีบทบาทลดการทำงานของ Cell เริ่มต้น มะเร็งได้
เมลาโทนิน
เมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง คนนำมาใช้เป็นอาหารเสริมช่วยเรื่องการนอนหลับ พบว่าเมลาโทนินไปยับยั้งตัวรับเอสโตรเจน ออกฤทธิ์เหมือนกับยารักษามะเร็งเต้านม ทามอกซิเฟน แต่เมลาโทนิน มีผลข้างเคียงน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับทามอกซิเฟน
กระเทียม
สารสกัดจากกระเทียมพบว่าช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาว ช่วยการทำงานเซลล์กินเชื้อโรค มาโครฟาจ และมีรายงานการศึกษาว่าสามารถยับยั้ง มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเมลาโนมา
องุ่นแดง
สารสกัดจากองุ่นไวน์แดง เรสเวอราทรอล ช่วยยับยั้งการอักเสบ ซึ่งรวมไปถึงการอักเสบที่เกิดรอบ ๆ หลอดเลือดในก้อนมะเร็งและเป็นสาเหตุให้มะเร็งกระจายและช่วยเพิ่มโปรตีนที่ควบคุมการเจริญของก้อนมะเร็ง โดยผ่านการทำงานของโปรตีน P21 และ โปรตีน BAX ซึ่งจะหยุดการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ การศึกษาในห้องทดลอง พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ 98% การศึกษาในหนู ลดขนาดเนื้องอกมะเร็งปอดชนิดแพร่กระจายสูง highly metastatic Lewis Lung carcinoma ได้ 42% ลดการแพร่กระจาย 56%
ถั่วเหลือง
สารสกัดไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง ถั่วเหลือง มีสารที่ช่วยยับยั้งตัวรับเอสโตรเจน และตัวรับแอนโดรเจนจึงสามารถยับยั้งมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เดิมเราคิดว่าถั่วเหลืองมีสารจำพวกเอสโตรเจนจากพืช คือ ไฟโตเอสโตรเจน เราเลยกลัวว่าถั่วเหลืองไม่น่าจะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง แต่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในประเทศที่พลเมืองกินเต้าหู้เป็นอาหารหลัก กลับพบอัตราการเกิดมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศน้อย แต่ในประเทศที่ไม่ได้กินเต้าหู้หรืออาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นหลักจะพบอัตราการเกิดมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนสูงกว่าจึงทำให้นักวิจัยเกิดความสนใจศึกษาเรื่องราวของถั่วเหลืองมากขึ้น และพบว่า ตัวรับเอสโตรเจนที่ผนังเซลล์มีสองชนิดคือ ชนิดเอกับชนิดบี ถั่วเหลืองจะกระตุ้นตัวรับชนิดบีเท่านั้น ซึ่งส่งผลในการระงับอาการร้อนวูบวาบจากการขาดฮอร์โมน ช่วยเสริมสร้างกระดูก ผิวหนังไม่แห้ง ลดอัตราความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ในขณะที่ตัวรับเอสโตรเจนชนิดเอเกี่ยวข้องกับการเจริญผิดปกติของเซลล์ ยังพบอีกว่า ตัวรับเอสโตรเจนชนิดบี จะกดการทำงานของตัวรับเอสโตรเจนชนิดเอ ดังนั้น ช่วยยับยั้งไม่ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เข้าไปสู่เซลล์ โดยสรุปก็คือ ถั่วเหลืองมีฤทธิ์แบบต้านเอสโตรเจนในขณะที่คงคุณสมบัติที่เป็นส่วนดีของเอสโตรเจนไว้ได้ (ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นตัวรับเอสโตรเจนชนิดบี เช่น รักษาระดับความแข็งแรงของกระดูก ผิวหนัง สมอง ลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ)
วิตามินซี
ถ้าจะป้องกันมะเร็งด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซีก็ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่ง ปัจจุบันเราหาชนิด 1,000 มก. ได้ไม่ยากนัก คนส่วนใหญ่จะทานวันละ 500 – 1,000 มก. แต่ถ้าจะรักษามะเร็งไม่ควรใช้สารต้านอนุมูลอิสระพร่ำเพรื่อโดยเฉพาะถ้ากำลังอยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัดหรือการฉายแสง อย่างไรก็ตาม วิตามินซีก็สามารถเป็นเคมีบำบัดรักษามะเร็งได้ แต่ต้องให้ในขนาดสูงมากที่เรียกว่าเมกะโดส วิตามินซีในขนาดที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งจะต้องให้ระดับของวิตามินซีในเลือดขึ้นไปสูงถึง 600 mg/dL แม้ว่าวิตามินซีจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ในขนาดสูง จะเป็นอนุมูลอิสระเสียเอง โดยเฉพาะอนุมูลอิสระจำพวกเปอร์ออกไซด์ ทั้งนี้ เซลล์ของมะเร็งจะมีระดับเอนไซม์ย่อยอนุมูลอิสระที่ชื่อ คาทาเลส อยู่น้อยกว่าเซลล์ปกติทั่วไป ดังนั้น เมื่อเกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายจากวิตามินซี เซลล์ทั่วไปก็จะอาศัย คาทาเลส ไปย่อยอนุมูลอิสะชนิดเปอร์ออกไซด์ได้ แต่เซลล์มะเร็งขาดเอนไซม์ คาทาเลส ก็จะไม่สามารถป้องกันตัวเองจากอนุมูลอิสระได้เซลล์มะเร็งก็ตายลง เคยมีการศึกษาวิจัยใช้วิตามินซีเมกะโดส ร่วมกับเคมีบำบัด พบว่า ช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองต่อเคมีบำบัดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษาด้วยการใช้วิตามินซีขนาดปกติ ร่วมกับเคมีบำบัด พบว่าผลของเคมีบำบัดลดลง ดังนั้น อย่าตัดสินใจรับประทานวิตามินเอง ถ้าท่านกำลังรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าเชื่อแพทย์ทางด้านเคมีบำบัดไปเสียทั้งหมด เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีความรู้ด้านการบำบัดมะเร็งทางอื่น
เมื่อไม่นานมานี้ มีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารมะเร็งวิทยาคลินิก ธันวาคม ปี 2004 เพื่อจะดูว่าเคมีบำบัด ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต 5 ปีออกไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยวิธีการวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัย เฉพาะที่พบว่าเคมีบำบัดมีนัยสำคัญทางสถิติที่เพิ่มอัตรารอด 5 ปี ของประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1990 ถึง 2004 ผลการศึกษาพบว่าเคมีบำบัดช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตในออสเตรเลียเพียง 2.3% ในสหรัฐอเมริกาเพียง 2.1% ถ้าแยกเฉพาะมะเร็งเต้านม ลำไส้ ศีรษะและคอ พบว่าเพิ่มอัตรารอดทั้งหมด น้อยกว่า 5% มีมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่เคมีบำบัดเพิ่มอัตรารอดได้สูง คือ มะเร็งอัณฑะเพิ่มอัตรารอด 41%, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่มอัตรารอด 10.5-38% มะเร็งรังไข่ เพิ่มอัตรารอด 8.8%
...ถ้าเป็นมะเร็งแล้ว นอกจากวิธีการรักษาแบบแผนปัจจุบันแล้ว ควรศึกษาความคุ้มไม่คุ้มในการรักษาให้ดี
เข้าสู่ระบบ
Create New Account