ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ ภาวะกระดูกบาง หรือเมื่อเป็นมากขึ้นจะเรียกว่า กระดูกพรุน ซึ่งจะเกิดมากเมื่อเพศหญิงขาดฮอร์โมนจำเป็น ทั้งที่เกิดจากอายุและที่เกิดก่อนวัยอันควร เช่น ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างไปพร้อมกัน และไม่สามารถใช้ฮอร์โมนทดแทนได้ เนื่องจากแพ้หรือกลัวเป็นมะเร็ง กลัวอ้วน สิวขึ้น ฯลฯ
หลายท่านอาจไม่ทราบว่า กระดูกของมนุษย์เป็นเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องสองอย่างคือ การสร้างกระดูกและการสลายกระดูก เกิดขึ้นควบคู่กันไปเรื่อย ๆ จนตลอดชีวิต ทั้งสองอย่างนี้ถูกควบคุมด้วยระบบฮอร์โมนหลายชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย
ฮอร์โมนที่สั่งการให้สร้างกระดูกคือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จากต่อมใต้สมอง ไธรอยด์ฮอร์โมน และฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน ในชายคือแอนโดรเจน นอกจากนี้วิตามินดีและพาราไธรอยด์ฮอร์โมน ก็มีผลในการดึงแคลเซียมกลับเข้ากระดูกเพื่อเกิดการสร้างกระดูก
ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกคือ แคลซิโตนินจากต่อมไธรอยด์ ทั้งนี้แคลซิโตนินจะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายมีภาวะขาดแคลเซียม หรือได้รับแคลเซียมไม่พอเพียง เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในขบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อ การส่งผ่านกระแสประสาทไปยังอวัยวะเป้าหมาย ที่ลำไส้ แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการจับกับกรดไขมันอิสระและกรดน้ำดีซึ่งระคายเคืองผนังลำไส้ ดังนั้นการได้รับแคลเซียมทางอาหารอย่างพอเพียงจึงช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เนื่องจากแคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกตลอดเวลาหากว่าร่างกายได้รับไม่เพียงพอ
ดังนั้น การรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ หรือให้แคลเซียมเสริมจึงมีส่วนช่วยลดอัตราการสลายกระดูกได้ แต่การสร้างกระดูกขึ้นกับฮอร์โมนต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น บางคนคิดว่ารับประทานแคลเซียมแล้วกระดูกจะหนาขึ้น จึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน
บางคนกลัวว่าหากรับประทานแคลเซียมมาก ๆ จะทำให้แคลเซียมพอกผิดที่ตามร่างกาย เช่น ในเส้นเอ็น ในกล้ามเนื้อ ในเส้นเลือด ในข้อต่อกระดูก ความจริงแล้วแคลเซียมที่รับประทานเข้าไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยกับแคลเซียมที่พอกผิดที่ เนื่องจากแคลเซียมที่พอกผิดที่เกิดจากการอักเสบและการที่มีเซลล์หมดอายุ โดยเฉพาะเซลล์ที่ผนังเซลล์จะมีปั๊มแคลเซียมอยู่ ทำหน้าที่ปั๊มแคลเซียมเข้าออกจากเซลล์ เซลล์ที่ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระหรือขบวนการอักเสบ ปั๊มนี้จะไม่ทำงาน ทำให้แคลเซียมสะสมนาน ๆ เข้าก็พอกผิดที่ เพราะฉะนั้นควรทานแคลเซียมเสริมต่อไปอย่าหยุด โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกบางด้วย
ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
-
ผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง
-
มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้
-
หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
-
คนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
-
เคลื่อนไหวน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย
-
คนที่มีรูปร่างเล็ก ผอม
-
กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย
-
อาหารที่มีไขมันมาก จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
-
สูบบุหรี่จัด
-
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชาในปริมาณมาก ๆ เป็นประจำ
-
ผู้ที่กินยาบางชนิด ซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์
ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น -
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคของต่อมหมวกไต หรือการเข้าเฝือกเป็นระยะเวลานาน โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต
ความต้องการแคลเซียมต่อวันในแต่ละคนแตกต่างกัน ในเด็กแรกเกิดถึงหกเดือน ต้องได้อย่างน้อย 210 mg ต่อวัน จากเจ็ดเดือนถึงหนึ่งปีควรได้ 270 mg ต่อวัน จากหนึ่งปีถึงสามปีควรได้ 500 mg ต่อวัน จากสี่ปีถึงแปดปีควรได้ 800 mg ต่อวัน จาก 9-18 ปี ควรได้ 1,300 mg ต่อวัน ในผู้ใหญ่อายุ 19-50 ปี ถ้าอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้ 1,200 mg ต่อวัน และควรได้รับแมกนีเซียม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำแคลเซียมเข้าเซลล์ในอัตราส่วนแคลเซียมต่อแมกนีเซียม 2:1
โรคกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน เกิดจากความไม่สมดุลกันในระดับการสร้างและระดับการสลายเนื้อกระดูก ซึ่งเกิดขึ้นในกระดูกที่ต่าง ๆ โดยมีความสัมพันธ์กับการเจริญของกระดูกในระหว่างเจริญเติบโตที่ผ่านมาด้วย กล่าวคือถ้าระหว่างการเจริญเติบโตมีมวลกระดูกน้อย เช่น ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นได้รับแคลเซี่ยมไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกบางได้เมื่ออายุมากขึ้น
อาการ
ภาวะกระดูกบางที่ยังไม่ได้กระทบกระเทือนโครงสร้างจะไม่มีอาการ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคกระดูกบางมักจะมีอาการเนื่องจากเกิดการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ร้าวลงขา ตัวงอ เดินไม่ตรง ฯลฯ และภาวะกระดูกพรุนมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่าย ที่พบบ่อย คือ กระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังแตก กระดูกข้อมือแตก และกระดูกซี่โครงหัก ซึ่งมักเกิดภายหลังจากหกล้ม เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการล้มง่ายร่วมด้วย เนื่องจากปัญหาอื่นที่เกิดร่วมกัน เช่น ประสาทเสื่อมจากเบาหวาน สมองเสื่อม ชรา
แนวทางการดูแลรักษา
-
ป้องกันไม่ให้หกล้ม โดยเข้าโปรแกรมฝึกประสาทคงความสมดุล
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-
เปลี่ยนวิถีชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์
-
ยารักษาโรคกระดูกพรุน
-
รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่ม peak bone mass และลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น
-
วิตามินดี แคลเซียม แมกนีเซียม
-
การให้ฮอร์โมนทดแทน ทั้งจากสังเคราะห์และจากธรรมชาติ
-
ตรวจสอบความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่อง Dexa Scan
มีผู้ป่วยหลายคนถามว่า จะออกกำลังกายอย่างไรดี แนะนำให้ออกกำลังกายที่เรียกว่า low impact exercise คือการออกกำลังกายที่ส่งผลกระแทกต่อข้อต่อต่าง ๆ น้อย เช่น ว่ายน้ำ เดิน โยคะ พิลาเต้ สเต็บแอโรบิก เครื่องออกกำลังแบบสกี(มีตามฟิตเนส เซนเตอร์) ปั่นจักรยาน แอโรบิกในน้ำ ไทชิ เป็นต้น
เนื่องจากยารักษากระดูกพรุน มีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น กระดูกขากรรไกรขาดเลือดตาย (bisphosphonate) เสี่ยงต่อมะเร็งกระดูก (teriparatide) มีคำถามว่ามีวิธีอื่นที่ช่วยให้กระดูกสร้างขึ้นใหม่หรือไม่ ในกลุ่ม osteopeptide เป็นสารสกัดจากเซลล์กระดูก ซึ่งประกอบด้วย peptide ราว 30,000 dalton ช่วยกระตุ้นเซลล์สร้างกระดูก ทำให้กระดูกหนาขึ้น แต่เป็นการรักษาในกลุ่มธรรมชาติบำบัด ในเยอรมันขึ้นทะเบียนเป็นโฮมีโอพาตี้ Homeopathy ถือเป็นทางเลือกที่อาจได้ผลและไม่ค่อยมีผลข้างเคียง
เข้าสู่ระบบ
Create New Account