โรคเกาต์ (Gout)

โทรศัพท์ : 026515988
โรคเกาต์ (Gout)
โรคเกาต์  (Gout)

โรคเกาต์  (Gout) เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก  โดยเป็นโรคที่เกิดความผิดปกติจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) ที่ถูกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน และร่างกายไม่ได้ขับออกทางไต   ทำให้กรดยูริกที่ถูกสะสมไว้ตกผลึกอยู่ในรูปแบบของเกลือยูเรตที่เนื้อเยื่อบริเวณข้อ และรอบ ๆ ข้อ ก่อให้เกิดการอักเสบต่อข้อที่มีปัญหา  โดยส่งผลให้มีอาการปวด บวม แดง บริเวณอวัยวะนั้นอย่างรุนแรง  ซึ่งอวัยวะที่พบว่าเกิดการอักเสบอยู่บ่อยครั้งได้แก่ บริเวณข้อนิ้วโป้งเท้า  ข้อนิ้วมือ  ข้อเข่า   และข้อเท้า โดยอาจนำไปสู่การอักเสบที่บริเวณอวัยวะอื่น ๆ เช่นตามข้อมือ ข้อศอก หรือข้อไหล่ตามมา

โรคเกาต์เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น  ต้นเหตุของการเกิดโรคเกาต์   เกิดจากการสะสมของกรดยูริกที่ไม่สามารถขับออกไปได้อย่างเพียงพอจึงทำให้เกิดการสะสมในข้อต่อ  จนกระทั่งร่างกายเกิดการบาดเจ็บ   และเกิดการอักเสบภายในผิวข้อ ซึ่งสาเหตุที่เกิดปัญหาเหล่านี้นั้นทางการแพทย์แบบบูรณาการมองว่า เป็นเพราะกรดยูริกนั้นเป็นของเสียที่เกิดจาก   การแตกสลายของสารพิวรีนซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสารอินทรีย์จากเซลล์ในร่างกายของเรานั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เซลล์ในร่างกายของเราเกิดการอักเสบ หรือการบาดเจ็บ ไปสัมผัสกับความเครียด และปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ  เช่น อดนอน พักผ่อนน้อย  พบเจอสารเคมีที่ไม่พึงประสงค์เช่น แอลกอฮอล์  บุหรี่   สารโลหะหนักที่ตกค้างจากยาฆ่าแมลง โดยที่สารพิษเหล่านี้   จะก่อตัวเป็นอนุมูลอิสระในร่างกาย   ให้เกิดการอักเสบระดับเซลล์จนกระทั่งร่างกายปล่อยกรดยูริกนี้ออกมาสะสมในเลือด

อย่างไรก็ตามนอกจากปัจจัยกระตุ้นที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว อาหารในชีวิตประจำวัน อย่างน้ำตาล ก็ยังมีส่วนที่จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายทำให้ปล่อยกรดยูริกออกมาได้เหมือนเช่นปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นอีกด้วย ดังนั้นนอกจากปัจจัยดังกล่าวนั้นแล้ว น้ำตาลก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสจากผลไม้ ที่มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่าสามารถสร้างการอักเสบได้อย่างลงลึกถึงระดับเซลล์

อาการและจุดสังเกตของโรคเกาต์

โรคเกาต์นั้นมีทั้งแบบที่ไม่แสดงอาการและระยะเฉียบพลัน  โดยแบบที่ไม่แสดงอาการนั้น  ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองป่วย จนกว่าจะมีอาการปวด บวม แดง ตามข้อ หรือตรวจพบว่ากรดยูริกในเลือดมีปริมาณสูงกว่าที่กำหนด ( ในเพศชายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศหญิงมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร )   สำหรับอาการของเกาต์ชนิดเฉียบพลันนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่สังเกตได้คือ มีอาการปวด บวม แดง ที่ข้อต่อขั้นรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเริ่มปวดที่ข้อเท้า นิ้วหัวแม่เท้า  ปวดข้อรุนแรง จนกระทั่งเดินไม่ได้  ซึ่งระยะนี้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มีโอกาสที่จะหายได้ แต่หากอาการปวดนั้นอักเสบหรือเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  ผู้ป่วยก็เสี่ยงที่จะมีอาการข้ออักเสบ ข้อผิดรูป และถ้ารุนแรงมากอาจส่งผลให้เกิดโรคไต หรือปัญหาไตวายแทรกซ้อนตามมาได้

การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคเกาต์

ถ้าสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นคือ ปัญหาของโรคเกาต์หรือไม่ สิ่งที่ควรทำก็คือ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยซักถามอาการ  หากพบว่าคนไข้มีอาการปวด บวม บริเวณข้อต่อ และผลตรวจเลือดออกมาแล้วพบว่า มีค่าของกรดยูริกในเลือดที่สูงกว่าปกติ ก็สันนิษฐานได้ว่าคนไข้รายนี้น่าจะมีอาการของโรคข้ออักเสบจากเกาต์ได้

สำหรับการรักษาโรคเกาต์ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาแก้อักเสบเพื่อรักษาตามอาการ เพื่อให้กรดยูริกในเลือดลดลง เพราะเมื่อใดก็ตามที่กรดยูริกลดลงการอักเสบก็จะน้อยลงไปด้วย   เมื่อพบว่าอาการอักเสบนั้นลดลงหรือคงที่แล้ว   แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาในกลุ่มของ Allopurinol ที่มีคุณสมบัติในแง่ของการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และเพิ่มขึ้นของระดับกรดยูริกในร่างกายคนไข้ต่อไป 

การรักษาโรคเกาต์ด้วยแนวทางการแพทย์แบบบูรณาการช่วยให้คุณภาพชีวิตคุณดีขึ้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ตามสำหรับคนไข้ที่ไม่อยากทานยาเป็นจำนวนมาก หรือต่อเนื่องยาวนาน มักจะเลือกใช้วิธีการทางธรรมชาติบำบัด หรือการแพทย์แบบบูรณาการมาดูแลตัวเองเพื่อทดแทนการทานยา หรือทานยาให้น้อยที่สุด  ซึ่งทางการแพทย์แบบบูรณาการให้ความสำคัญกับการดูแลด้วยโภชนเภสัช ด้วยสารอาหารจากธรรมชาติโดยเลือกใช้สารอาหาร ประเภทกรดไขมันจำเป็น เช่น  OMEGA 3 ซึ่งพบได้มากในน้ำมันปลา น้ำมันงาขี้มอน น้ำมันมะกอก  สารสกัด Curcumin,  Boswellia หรือไพรสกัด  สารสกัด Astaxanthin จากสาหร่ายสีแดง   ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดและควบคุมการอักเสบมาดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการทานยาโดยไม่จำเป็น  

ควรทำอย่างไร ถ้าไม่อยากป่วยด้วยโรคเกาต์

แนวทางการแพทย์แบบบูรณาการนั้นให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยของการเกิดโรค หากอยากลดความเสี่ยงปัญหาโรคเกาต์สิ่งที่ต้องทำก็คือ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต   นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสม ดูแลสุขภาพจิตใจ เติมเต็มสารอาหารประเภทโภชนเภสัชที่ดี เช่นอาหารในกลุ่ม Antioxidants  หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ดีท็อกซ์สารพิษส่วนเกินต่าง ๆ  ควบคู่ไปกับการประคับประคองการทำงานของไต ปรับความเป็นกรด ความเป็นด่าง เพื่อให้ไตขับของเสียได้ดีขึ้น  ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ก็คือการดูแลป้องกันการเกิดโรคเกาต์ด้วยการแพทย์แบบบูรณาการ

 

SEND A MESSAGE
Your email address will not be published. Required fields are marked.
CALL US : 02 651 5988
Select AH Find Dr Contact Us