วันนี้เราจะมาว่ากันเรื่องโรคยอดฮิต ที่เป็นกันเกือบจะครึ่งประเทศ ก็คือเรื่องภูมิแพ้ ในมุมมองของการแพทย์บูรณาการกันบ้าง ภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 40 ปีมานี้ มีโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้โดยเฉลี่ยดังนี้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30 โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดร้อยละ 10-15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5 เด็กมีอัตราการเป็นภูมิแพ้มากกว่าผู้ใหญ่
ก่อนจะเข้าใจเรื่องภูมิแพ้ ต้องทำความเข้าใจระบบป้องกันภยันตรายของร่างกายก่อนว่า เรามีระบบป้องกันตนเอง จากเชื้อโรคแปลกปลอมที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราได้สัมผัสหรือรับเข้าไปผ่านเส้นทางต่างๆ เช่น หายใจ ดื่ม กิน เข้าไป ซึ่งระบบนี้สลับซับซ้อนมาก และมีรายละเอียดเฉพาะตัวที่ยากจะทำให้เข้าใจได้ง่าย ๆ แต่อย่างน้อยที่สุดก็พอจะสรุปได้คร่าว ๆ ว่า ระบบนี้มีเม็ดเลือดขาว ภูมิคุ้มกัน และสารตัวกลาง mediators เป็นส่วนสำคัญ
เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ลิมโฟซัยท์ชนิดบีเซลล์ ทำหน้าที่ผลิตภูมิคุ้มกัน ลิมโฟซัยท์ชนิดทีเซลล์ ทำหน้าที่ปล่อยสารมาทำลายสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งก่อให้เกิดการอักเสบการแพ้ เม็ดเลือดขาวบางชนิดทำหน้าที่เก็บกินเชื้อโรค เช่น นิวโตรฟิล มาโครฟาจ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้งการต่อสู้เชื้อโรคและการก่อภูมิแพ้ โดยผ่านการผลิตภูมิคุ้มกันและการหลั่งของสารตัวกลาง สารตัวกลางมีทั้งที่ช่วยต้านเชื้อโรค ก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น ไซโตไคน์ต่างๆ แต่บางครั้งสารตัวกลางเป็นตัวก่อปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ฮีสตามีน ซึ่งเรารู้จักกันดีเวลาเราไปซื้อยาแก้แพ้ประเภทแอนตี้ฮีสตามีน นั่นเอง
ทำไมจึงเป็นโรคภูมิแพ้ คำตอบก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่คอยป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ให้กับร่างกาย เกิดการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ แล้วสร้างสารตัวกลางที่ทำให้เกิดอาการ ผื่นคัน น้ำมูกไหล จาม ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจไม่ออก หอบหืด ฯลฯ ทั้งที่ในคนปกติสารก่อภูมิแพ้ไม่ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเช่นว่านี้ สารก่อภูมิแพ้มักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆ ไป เช่น ขนหมา ขนแมว ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นในบ้าน ไรฝุ่น สารเคมีต่างๆ อาหาร ควัน ฯลฯ
ภูมิแพ้หายได้เองหรือเปล่า
เรามักเคยได้ยินว่า ภูมิแพ้ในเด็กพอโตขึ้นอาการก็จะดีขึ้นเอง ความจริงแล้วอย่าเพิ่งดีใจเร็วไป หรือคิดว่าเรื่องภูมิแพ้มันจะง่ายขนาดนั้น เพราะจากรายงานการวิจัยเราพบว่าเด็กประมาณ 30-50% ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีอาการดีขึ้นหรือหายไปเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่น แต่ในที่สุดก็มักจะกลับมาเป็นใหม่เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนที่เหลือคือประมาณ 50-70% จะมีอาการไปเรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ ยุคที่สิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยพิษจากสารเคมีชนิดต่างๆ ล้วนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นกับสารต่างๆ ดังนั้น นับวันคนเป็นภูมิแพ้ก็จะมากขึ้น อาการก็เพิ่มขึ้น รักษาก็ยากขึ้น และโอกาสหายก็น้อยลง
การรักษาภูมิแพ้แบบฉบับ
การรักษาภูมิแพ้แบบฉบับในปัจจุบันนี้ จะประกอบด้วยการใช้ยาระงับปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น ไซร์เทค คลาริทีน เทลฟาส การใช้ยาป้องกันปฏิกิริยาการอักเสบซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น ซิงกูแลร์ ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุและต้องใช้ยาไปยาวนาน นอกจากนี้ก็มีการหาสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ไปจนถึงการฉีดวัคซีนที่ทำจากสารก่อภูมิแพ้เจือจาง ซึ่งกินเวลานาน เสียค่าใช้จ่ายมาก ได้ผลราว 30% เท่านั้น สุดท้ายหากอะไร ๆ ก็เอาไม่อยู่จริง ๆ ก็ต้องพึ่งสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ ซึ่งมีทั้งแบบกิน แบบฉีด แบบทา แบบสูดพ่น ขึ้นชื่อว่าสเตียรอยด์แล้ว ก็หนีไม่พ้นผลข้างเคียงเมื่อต้องใช้ไปนานนาน
การรักษาภูมิแพ้แบบผสมผสาน
เราคงเคยได้ยินว่า คนเป็นภูมิแพ้มีอาการดีขึ้น เมื่อไปกินอาหารเสริมบางอย่าง หรือเลิกกินอาหารบางอย่าง เช่น น้ำมันจมูกข้าว น้ำมันโอเมก้า เป็นต้น ความจริงแล้วเป็นเพราะน้ำมันเหล่านั้นมีสารยับยั้งขบวนการอักเสบ จึงมีผลทำให้ภูมิแพ้บางคนดีขึ้น บางคนกินเห็ดหลินจือแล้วดีขึ้น เนื่องจากเห็ดหลินจือมีสารสเตอรอลธรรมชาติอยู่ หากมองในแง่ฤทธิ์ทางยา ก็ไม่ต่างอะไรกับการกินยา เพียงแต่ว่าเป็นอาหารเสริม จึงอาจมีผลข้างเคียงต่ำกว่า
ในเรื่องการแพ้อาหาร ปัจจุบันเราพบว่ามีภูมิคุ้มกันก่อการแพ้อาหารชนิดเชื่องช้า delay type food allergy IgG คือเมื่อก่อนนี้การแพ้อาหารจะเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันชนิด IgE ซึ่งเราสามารถตรวจได้จากเลือด ต่อมาในยุคนี้เราสามารถตรวจการแพ้อาหารที่ไม่ได้เป็นทันที และผู้ป่วยมักจะไม่รู้ว่าตนเองแพ้อาหารชนิดนั้น แต่จะมีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่ตลอดเวลา เช่น ปวดศีรษะ คัดจมูก เป็นผื่นผิวหนังชนิดเรื้อรัง ฯลฯ เมื่อตรวจเลือดพบการแพ้ชนิดนี้ แล้วงดอาหารประเภทนั้นไป ก็สามารถหยุดอาการแพ้ได้สนิท โดยไม่ต้องรับประทานยาแก้แพ้อีกต่อไป การตรวจเลือดชนิดนี้ เขาจะมีชุดตรวจสำหรับอาหารคนเอเชียโดยเฉพาะ ซึ่งจะตรวจภูมิคุ้มกันต่ออาหารที่อาจจะแพ้ได้นับร้อยรายการที่ Absolute Health เป็นต้น
ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อภูมิแพ้ที่สำคัญมากคือ ความเครียด เพราะความเครียดทำให้ต่อมหมวกไตล้า และส่งเสริมการอักเสบในร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะแต่ความเครียดทางจิตใจเท่านั้น ความเครียดทางกายด้วย เช่น ไม่ได้พักผ่อน ทำงานหรือเที่ยวจนดึก ๆ หรือข้ามวัน ผู้ป่วยภูมิแพ้หลายคนอาการดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต งดเหล้า งดบุหรี่ เลิกเที่ยวกลางคืน หันมานั่งสมาธิ
เพิ่มไปกว่านี้ก็เป็นเรื่องของการปรับระบบภูมิคุ้มกันใหม่ ซึ่งต้องไปแก้ไขที่ต้นตอคือ ต่อมไทมัส ซึ่งทำหน้าที่ฝึกสอนระบบภูมิคุ้มกันชนิด T cell ให้จดจำเชื้อโรค รวมถึงรู้จักการทำงานต่างๆ ในระบบอันซับซ้อน เช่น ทำลายสิ่งผิดปกติ Natural Killer CD 161 ช่วยส่งเสริมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน Helper or Effector CD4+ ทำลายเชื้อโรคและมะเร็ง Cytotoxic T cell CD8+ ,จดจำสิ่งแปลกปลอม Memory T cell CD4/8 ระงับปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน suppressor T cell เป็นต้น ความผิดพลาดในการทำหน้าที่ของต่อมไทมัส ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ รวนไป เราจึงพยายามแก้ไขที่สาเหตุด้วยการฟื้นฟูต่อมไทมัส ซึ่งสามารถช่วยให้ภูมิแพ้ที่เป็นอยู่หายไปได้
สุดท้ายอยากจะฝากบอกว่า ถ้าเป็นภูมิแพ้แล้วแน่นอนจำเป็นต้องรักษา แต่การพึ่งยาตลอดไปอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็เป็นได้ หากหาสาเหตุให้พบ แล้วเข้าไปแก้ไขที่สาเหตุโดยตรง ก็มีสิทธิ์ปลอดจากภูมิแพ้ได้ หรืออย่างน้อย เปลี่ยนวิธีมาเป็นการปฏิบัติตนเองเพื่อเอาชนะโรคนี้ โดยไม่ต้องอาศัยยาอีกต่อไป
เข้าสู่ระบบ
Create New Account