โรคเบาหวาน...วายร้ายแห่งการใช้ชีวิต
โรคเบาหวาน นับวันจะกลายเป็นโรคยอดฮิต มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี และที่สำคัญผู้ป่วยเบาหวานอายุน้อยลงเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้เด็กเล็กๆ ในโรงเรียนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่า เบาหวาน ไม่ใช่เรื่องของคนสูงอายุเหมือนที่หลายๆ คนเข้าใจอีกต่อไป
จากข้อมูลของหลายสถาบันเป็นสิ่งยืนยันว่า “ทำไมเราต้องใส่ใจและเข้าใจเบาหวาน”
จากข้อมูลสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่าปัจจุบันคนไทย 1 คนใน 11 คน ป่วยด้วยเบาหวาน ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2561 มิเตอร์ประเทศไทย รายงานจำนวนประชากรไทยที่ 66 ล้านคน ดังนั้นเรามีผู้ป่วยโรคเบาหวานประมาณ 6 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทย 50% มีภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง ข้อมูลจากสมาคมโรคไตพบว่า เบาหวานเป็นสาเหตุของภาวะไตวายระยะสุดท้ายมากที่สุด
เบาหวานเป็นเช่นไร?
โรคเบาหวานสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 : โรคเบาหวานที่เกิดจากภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
โรคเบาหวานชนิดนี้พบได้ ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของโรคเบาหวานทั้งหมด เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินสุลิน ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และสาเหตุที่ขาดฮอร์โมนอินสุลิน นั่นเป็นเพราะเซลล์ตับอ่อนได้ถูกทำลายและเสื่อมไปจากภาวะภูมิคุ้นกันของคนไข้ ย้อนกลับมาทำลายเซลล์ตับอ่อนของตัวเอง ทำให้คนไข้ประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินทดแทนเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ปกติ
ประเภทที่ 2 : โรคเบาหวานจากภาวะเซลล์ของร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินสุลิน
ซึ่งโรคเบาหวานที่พบส่วนใหญ่มักเป็นจากสาเหตุนี้ ตามปกติทุกๆเซลล์ของร่างกายใช้ฮอร์โมนอินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลในการสังเคราะห์พลังงาน แต่ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้ กลับพบว่ากลไกของการตอบสนองของตัวรับฮอร์โมนอินสุลิน (Insulin receptor) ที่ผนังเซลล์ตอบสนองหรือทำงานได้ลดลง ทำให้เซลล์เผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้ไม่ดี ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า”ภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน” จากภาวะนี้เองที่เป็นเหตุให้การเผาผลาญในเซลล์ลดลง จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ตับอ่อนจึงทำงานหนักขึ้น เพื่อผลิตอินสุลินมากขึ้นเพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อลงมาสู่สภาวะปกติให้ได้
ดังนั้น ในระยะแรกของโรคเบาหวานชนิดนี้ จะทำให้ตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูง และฮอร์โมนอินซูลินสูง แต่เมื่อตับอ่อนทำงานหนักขึ้น จนเข้าสู่สภาวะที่ตับอ่อนเริ่มอ่อนล้าหรือเสื่อมลงจนผลิตฮอร์โมนอินสุลินได้ลดลง เราก็จะสามารถตรวจพบน้ำตาลในเลือดจะสูงมาก และระดับฮอร์โมนอินซูลินจะต่ำลง ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนอินสุลินเช่นเดียวกัน
โรคเบาหวานทำลายเซลล์
โรคเบาหวาน เป็นตัวเร่งที่รุนแรงทำให้อุบัติการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น และเป็นสาเหตุหลักโรคไตวาย โรคตาบอด การตัดขาในผู้ใหญ่ โรคเบาหวานที่แท้ ก็คือโรคแก่ก่อนวัย เพราะขบวนการทำให้แก่ และขบวนการที่เบาหวานทำลายเซลล์ เป็นขบวนการเดียวกัน ทั้งความชราภาพ และเบาหวาน มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ภาวะไกลเคชั่น (Glycation) หรือภาวะน้ำตาลเชื่อมเซลล์ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลที่สูงสามารถสร้างอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น (Oxidative Stress) ซึ่งมีผลทำลายเซลล์ให้เสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย
ไกลเคชั่น เป็นภาวะที่กล่าวถึงปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลของกลูโคส สามารถเข้าจับโปรตีนและไขมัน ทำให้โมเลกุลของโปรตีนนั้นๆเสื่อมสภาพและเสียหน้าที่ไป ยกตัวอย่างเช่น ไกลเคชั่นที่เกิดกับเส้นประสาท จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการเส้นประสาทเสื่อมหรือที่บางท่านเรียกว่าเบาหวานลงปลายประสาท ไกลเคชั่นที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจ ก็ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ถ้าเกิดกับเส้นเลือดก็ทำให้เส้นเลือดเสื่อมจนทำให้เกิด โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ไตวาย เส้นเลือดอุดตัน และตาบอด เป็นต้น
การวัดระดับน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยเบาหวาน
ใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งตามมาตรฐานจะเจาะกันที่เส้นเลือดดำ ซึ่งระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชม.ไม่ควรเกิน 100 mg/dL หากค่าอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dL ถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ถ้าเกิน 126 mg/dL ติดกันมากกว่า 2 ครั้ง ให้วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน เป้าหมายระดับน้ำตาลในผู้ที่เป็นเบาหวานคือไม่เกิน 90-130 mg/dL
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด อาจเป็นเพียงแค่มุมมองเดียวที่ทำให้เราเห็นถึงค่าระดับน้ำตาลในวันที่ตรวจเลือดเท่านั้น ในทางการแพทย์จึงมีการตรวจน้ำตาลอีกชนิดหนึ่งคือ ดูค่าน้ำตาลสะสม หรือ Glycated Hemoglobin A1C (HbA1C) ซึ่งแสดงถึงการสะสมของน้ำตาล หรือระดับไกลเคชั่นที่แท้จริงในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เราสามารถประเมินเรื่องเบาหวานได้ดีกว่า และเห็นถึงระดับน้ำตาลย้อนหลังได้ถึงสามเดือนตามอายุขัยของเซลล์เม็ดเลือดแดง
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดค่า HbA1c มีข้อจำกัดหลายประการ เพราะเป็นเพียงค่าน้ำตาลสะสม หรือค่าเฉลี่ยของน้ำตาลเท่านั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ของการตรวจเลือดเรียกว่า glycomark ตรวจประเมินว่ามีภาวะระดับน้ำตาลแกว่งแปรปรวนมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ เพราะ glycomark จะบอกภาวะของน้ำตาลในเลือดในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องรอถึง 2-3 เดือนแบบการตรวจน้ำตาลสะสม HbA1C สำหรับอาการผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้ เช่น ปัสสาวะมากและบ่อย หิวน้ำบ่อย รู้สึกหิวบ่อย ตาพร่า เป็นแผลเรื้อรังหายช้า ปวดและชาตามมือและเท้า เป็นต้น
สมาคมโรคเบาหวานสหรัฐอเมริกา พบว่าโรคเบาหวานสัมพันธ์กับพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าเบาหวานเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม เพราะบ่อยครั้งไม่สามารถแยกได้ชัดเจนระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรม กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเลี้ยงดูมักจะถ่ายทอดวิธีรับประทานอาหาร หากพ่อหรือแม่ชอบรับประทานแป้ง ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว อาหารฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ ลูกก็ย่อมได้รับการเลี้ยงดูเช่นนั้น ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่รับประทานอาหารสุขภาพเป็นหลัก ลูกมักจะได้รับการถ่ายทอดแนวทางการเลือกอาหารมาด้วยไม่มากก็น้อย สิ่งเหล่านี้จึงส่งผลต่อการกำหนด “ยีน” ที่เกี่ยวกับเบาหวานให้แสดงออก หรือไม่แสดงออกและก่อให้เกิดเป็นโรคในยุคต่อไปได้
แนวทางเพื่อการรักษาอย่างครอบคลุม
เมื่อป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้องบอกว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากการบริโภค เป็นโรคของวิถีชีวิตที่ผิดพลาด จึงไม่สามารถพึ่ง “ยา” เพียงอย่างเดียว เพราะยาไม่สามารถทำให้พยาธิสภาพของโรคดีขึ้นได้ ยาทำได้เพียงลดระดับน้ำตาลในเลือดลง การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในองค์รวม สามารถแก้ไขโรคให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการรักษาเบาหวานแบบบูรณาการเป็นทางเลือกที่ดีที่ตอบโจทย์การรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งมีแนวทางรักษา ดังนี้ การปรับสมดุลการเผาผลาญของร่างกาย การขับสารพิษตกค้าง การใช้วัคซีนจากตนเอง การดูแลด้านอาหารเฉพาะทางและเฉพาะบุคคล รวมถึงเปปไทด์และCell เริ่มต้น เพื่อการดูแลแบบองค์รวม
.............................
แหล่งที่มา: บทความเบาหวานต้องเริ่มที่การเปลี่ยนทัศนคติ , เบาหวาน หายได้ถ้ารู้วิธี
นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต
เข้าสู่ระบบ
Create New Account